วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565

เครือข่ายสหกรณ์โคนมกำแพงเพชรทำ MOU ซื้อมันเส้น โดยตรงจากสหกรณ์ผู้ปลูกมันสำปะหลังและผู้ประกอบการส่งออกหวังแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์หลังราคาขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

 




 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายสุวิทย์ สันตติวงศ์ไชย ปลัดจังหวัดกำแพงเพชรเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อ – ขายมันเส้นสะอาดระหว่างเครือข่ายสหกรณ์โคนมกับสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังในจังหวัดกำแพงเพชรและผู้ประกอบการส่งออก 



สำหรับสหกรณ์เครือข่ายโคนมเป็นสหกรณ์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ และลำพูนรวม 8 แห่งได้แก่ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กมิตรภาพ จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กพัฒนานิคม จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กสวนมะเดื่อ จำกัด สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด และสหกรณ์โคนมเทพสถิต จำกัด ส่วนสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังเป็นสหกรณ์ในจังหวัดกำแพงเพชรและผู้ประกอบการส่งออกมันสำปะหลังได้แก่ บริษัท ทาปิโอกา คอร์เปอเรชั่น จำกัด 



ทั้งนี้ตาม MOU สหกรณ์เครือข่ายโคนมจะรับซื้อมันเส้นสะอาด 17,040 ตัน มูลค่า 136.795 ล้านบาทไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งปัจจุบันเกิดภาวะวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและราคาแพง ดังนั้นการซื้อ-ขายโดยตรงจากสหกรณ์ผู้ผลิตมันและรวบรวมมันสำปะหลัง รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกจะทำให้เครือข่ายสหกรณ์โคนมจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ตามต้องการอย่างเนื่องและราคาไม่ผันผวน ส่วนสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังมีโอกาสขยายตลาด โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากธ.ก.ส. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์




วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

มาเลเซียประกาศยกเลิกการแบนนำเข้าโค-กระบือจากไทย แล้วหลังไทยมีมาตรดารควบคุมโรคเข้ม มีผลส่งออกตามเงื่อนไขได้ทันที

 


นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าล่าสุด กรมสัตวแพทย์บริการ (The Veterinary Services Department (DVS)) ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแจ้งยกเลิกการแบนนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทย ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 มีผลทันที โดยประเทศไทยสามารถส่งออกโค-กระบือ (ทั้งโค-กระบือขุนและพ่อแม่พันธุ์) ไปประเทศมาเลเซียตามเงื่อนไขและขั้นตอนการนำเข้าได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องต่อด้านปศุสัตว์และอุตสาหกรรมผู้เลี้ยงโค-กระบือ โดยการประกาศของทางมาเลเซียเนื่องจากเค้าเชื่อมั่นในระบบการควบคุมและป้องกันโรคของประเทศไทย


เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปีสกินในประเทศไทย เพื่อเป็นการป้องกันโรคและลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดต่ออุตสาหกรรมโค-กระบือของประเทศมาเลเซีย มาเลเซียจึงประกาศระงับการนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 นั้น ซึ่งล่าสุดมีข่าวดีมาแจ้งได้รับรายงานใน วันที่ 15 มีนาคม 2565 ว่ากรมสัตวแพทย์บริการ (DVS) ประเทศมาเลเซีย ได้ออกประกาศรายงานและมีหนังสือแจ้งกรมปศุสัตว์มาอย่างเป็นทางการแล้ว อนุญาตให้นำเข้าโค-กระบือ (ทั้งโค-กระบือขุนและพ่อแม่พันธุ์) จากประเทศไทยได้ โดยมีผลทันที เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินในโค-กระบือของประเทศไทยว่ามีมาตรการในการดำเนินการที่ครอบคลุมมีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดควบคุมและป้องกันการเกิดโรคได้ มีมาตรการในการตรวจสอบกำกับและการควบคุมการเคลื่อนย้ายที่ชัดเจน 


อย่างไรก็ตาม DVS และกรมปศุสัตว์ ประเทศไทย ได้ทบทวนจัดทำและบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรคลัมปีสกินและขั้นตอนในการนำเข้า ซึ่งจะมีการปรับข้อกำหนดมาตรการและขั้นตอนการนำเข้าบางส่วนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบในการเกิดโรคจากการเคลื่อนย้ายโค-กระบือเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ซึ่งกรมปศุสัตว์ต้องมีการขึ้นทะเบียนทั้งผู้นำเข้า พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องกำกับดูแลให้ทั้งผู้นำเข้า พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคลัมปีสกิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนทั้งหมดที่เกี่ยวกับการนำเข้าโค-กระบือสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้สัตว์ที่เป็นโรคเข้าไปสู่ประเทศมาเลเซียได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ด้วย โดยจากข้อมูลกองสารวัตรและกักกันพบว่าตั้งแต่ปี 2561 - มิถุนายน 2564 มีปริมาณโค-กระบือที่นำเข้าไปมาเลเซียประมาณ 68,523 ตัว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทยมากขึ้นในช่วงเทศกาลฮารีรายอ ฮัจจิ (Hari Raya Haji) หรือเทศกาลแห่งการบูชายัญและขอให้เกษตรกรและผู้เลี้ยงโค-กระบือทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรค ต่อไปเพื่อป้องการการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้



ปศุสัตว์ยังเดินหน้าตรวจห้องเย็นรอบใหม่ต่อเนื่อง หวั่นกักตุนสินค้าปศุสัตว์สร้างปัญหากระทบค่อผู้บริโภค


นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยล่าสุดได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 


โดยล่าสุดรายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 16 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี มุกดาหาร ขอนแก่น นครปฐม กาญจนบุรี สงขลา ระยอง เชียงใหม่ ตรวจพบซากสุกรจำนวน 259,994.40 กิโลกรัม รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 16,627,851.27 กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 402 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)


สำหรับรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 10 มีนาคม ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเล็กน้อย แม้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์และค่าพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตา ปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานะการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา ทั้ง ๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล (เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB 32.9983/USD) ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 84) สรุปแนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง


หากประชาชนพบความผิดปกติต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินการต่อไป

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...