วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กิจกรรมสุด Cool

กิจกรรมสุด Cool กับหกแบรนด์ดังจากฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-ไทย

ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 25

          ผลิตภัณฑ์ ELLE  Boutique (แอล บูติค) ,ELLE Bag (แอล แบค)ELLE HOMME (แอล ฮอม) ,iiMK (มิเชลล์ ไคลน์),ITOKIN (อิโตคิน),minna (มินน่า) และ Becky Russell (เบคกี้ รัสเซลล์) บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)  พร้อมใจกันจัดกิจกรรม ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 25 เพื่อเอาใจลูกค้าและเหล่าแฟนคลับเป็นกรณีพิเศษ แบบจัดเต็ม ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2564 

          เริ่มด้วยสามแบรนด์ดังจากฝรั่งเศส ELLE Boutique (แอล บูติค), ELLE Bag (แอล แบค) และ ELLE HOMME (แอล ฮอม) จับสองคนดัง “ติช่า-กันติชา ชุมมะ” นางแบบ และ “เอม-วิทวัส รัตนบุญบารมี” นักแสดง มาเป็นพิธีกรคู่ร่วมกัน พร้อมเปิดตัวสามคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดจากแบรนด์ ELLE Boutique (แอล บูติค), ELLE Bag (แอล แบค) และ ELLE HOMME (แอล ฮอม)

          ELLE Boutique (แอล บูติค)เปิดตัวด้วยเสื้อทีเชิ้ตคอลเลคชั่น summer 2021 ล่าสุดที่จะพาทุกคนดื่มด่ำไปกับการใช้ชีวิตที่สดชื่นของแสงแดดในหน้าร้อน แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านหรือ Social Distancing โดยแรงบันดาลใจสื่อออกมาทางลายพิมพ์ของผลไม้ในหน้าร้อน รวมถึงลวดลายธรรมชาติยามเช้า ลวดลายที่ทาง แอล บูติค นำเสนออย่างชัดเจนคือลายสับปะรด สีสันสดใส ประกอบด้วย เสื้อทีเชิ้ต 1 ตัวพร้อมด้วยหน้ากากอนามัยชนิดผ้าลายสับปะรดเข้าชุดกัน และสายคล้องหน้ากากอนามัยอีก 1 เส้น ในราคาเพียง 495 บาท มีจำนวนจำกัดเพียง 500 ชุดเท่านั้น ซึ่งคอลเลคชั่นดังกล่าว ไม่ได้วางจำหน่ายที่ไหนมาก่อน ผลิตเพื่องานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 25  เพียงอย่างเดียว ,ส่วน ELLE Bag (แอล แบค) ก็ออกชุด Monogram 2021 (โมโนแกรม 2021) ลายคลาสสิกเป็น MONOGRAM CANVAS ทริม หนังวัวแท้เรียบ  มีความเงาเล็กน้อย ผ้าซับใน  พิมพ์ลาย ELLE เนื้อ Polyester 100 เปอร์เซนต์ มายั่วยวน มีให้เลือกทั้งกระเป๋าสตางค์ ราคา 1,832 บาท และกระเป๋าถือ ในราคา 3,432 บาท เพียงอย่างละ 5 ชิ้นเท่านั้น และ ELLE HOMME (แอล ฮอม) ได้ออกเสื้อทีเชิ้ตคอลเลคชั่น AMOUR ที่แปลว่าความรัก มายั่วน้ำลายสาวกหนุ่มไทย ในราคาเพียง 390 บาท ผลิตเพียง 500 ตัวสำหรับงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 25 นี้เท่านั้นหมดแล้วหมดเลยไม่มีผลิตเพิ่ม ซึ่งสาวกชาวแอล ท่านใดสนใจสามารถซื้อสินค้าผ่านเว็ป https://www.lazada.co.th/shop/elle/,https://shopee.co.th/elle_bag_officialshop,https://shopee.co.th/elle_boutique_th,https://shopee.co.th/elle_homme_official ,www.iccshopping.com  และ www.sahagroupfair.com พบกับการไลฟ์สดสินค้าในวันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00น.

          ส่วนแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่น อย่าง iiMK (มิเชลล์ ไคลน์),ITOKIN (อิโตคิน) และ minna (มินน่า) ก็ไม่ยอมน้อยหน้า จับหมอดูคนดัง “อาจารย์คฑา ชินบัญชร” มาไลฟ์สดเผยเคล็ดลับการเลือกใส่สีเสื้อผ้าประจำวันอย่างไรให้ถูกโฉลก ใส่สีอะไรให้เฮงๆๆ  ใส่สีไหนแล้วธุรกิจจะปังปัง  คนที่เชื่อเรื่องสีเรื่องดวง เตรียมส่องไลฟ์สดของอาจารย์คฑา ชินบัญชร ได้ในวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. โดยมี น้อมแก้มบุ๋ม-มิสแกรนด์บึงกาฬ 2016  บุบผา นิลสวัสด์ รับหน้าที่เป็นพิธีกร 

          อย่าพลาดงานนี้ธุรกิจจะรุ่งหรือจะร่วง อย่าลืมตามดูไลฟ์สด การเลือกสีเสื้อมงคลประจำวันอย่างไรให้ชีวิตและธุรกิจปัง ของอาจารย์คฑา ชินบัญชร ที่เว็ป  https://www.lazada.co.th/shop/bfashshop/,https://shopee.co.th/bfash_officialshop,www.iccshopping.com และ www.sahagroupfair.com

          แบรนด์ดังสัญชาติไทย  Becky Russell (เบคกี้ รัสเซลล์) ที่มีเจ้าของแบรนด์เป็นถึง รอง ซีอีโอ สถานี Shop Channel และผู้บริหาร บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) แถมยังมีตำแหน่งอดีตรองอันดับ 1 มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2531 “เบคกี้- รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร” งานนี้สาวเบคกี้ ขอจับคู่เพื่อนซี้ “ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก” หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด  ผู้ถือลิขสิทธิ์การจัดประกวด Miss Universe Thailand มาเม้าส์มอยทอล์กโชว์ เรื่องส่วนตัว ให้เหล่าแฟนคลับของทั้งคู่ได้ฟัง ในวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.00 น. ที่เว็ปไซต์ https://www.lazada.co.th/shop/bfashshop/ , https://shopee.co.th/bfash_officialshop,www.beckyrussell.com ,LINE Official: @becky_russell ,www.iccshopping.com  และ www.sahagroupfair.com

          เหล่าสาวกและแฟนคลับของงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 25  อย่าลืมพลาด......ติดตามไลฟ์สดเคล็ดลับหรือเรื่องราวดีๆของเหล่าเซเลปและดาราชื่อดัง ทั้ง 6 แบรนด์ดังจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และ ไทย ได้ที่เว็ปไซต์ https://www.lazada.co.th/shop/elle/,https://shopee.co.th/elle_bag_officialshop,https://shopee.co.th/elle_boutique_th,https://shopee.co.th/elle_homme_official,https://www.lazada.co.th/shop/bfashshop/,https://shopee.co.th/bfash_officialshop,www.beckyrussell.com ,LINE Official: @becky_russell ,www.iccshopping.com  และ www.sahagroupfair.com ระหว่างวันที่1-4 กรกฎาคม 2564

สกสว.เปิดแผนผลิตกำลังคนแบบไร้รอยต่อ

สกสว.เปิดแผนผลิตกำลังคนแบบไร้รอยต่อ

แนะ ‘มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง’ ยกระดับอาชีวะ


          สกสว.ระดมสมองพัฒนาระบบการอุดมศึกษาให้เชื่อมโยงรูปแบบการเรียนรู้แบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีทักษะใหม่ ปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่ปรวนแปร ผู้ทรงคุณวุฒิแนะ อุดมศึกษาควรร่วมกับ ศธ. ให้ความสำคัญกับความฉลาดรู้วิทย์-คณิตในนักเรียน และเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาทักษะแรงงานอาชีวะ

          เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570 เรื่อง “ระบบการอุดมศึกษาแบบเชื่อมโยงรูปแบบการเรียนรู้ทั้งลักษณะ Degree, Non-degree และการเรียนรู้ตลอดชีวิตตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถประกอบอาชีพอิสระ” โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานระดับนโยบาย และหน่วยบริหารและจัดการทุนเข้าร่วม

           ที่ประชุมเห็นพ้องว่าเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของระบบการอุดมศึกษาแบบเชื่อมโยง คือ การ ยกระดับและบูรณาการสถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อการสร้างคนที่มีทักษะสูง สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากโลกอนาคตจะต้องผลิตคนที่มีพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 สามารถคิดและพัฒนาการทำงานแบบใหม่ มีเรื่องใหม่ ๆ ที่แม้ไม่ได้เรียนมาแต่สามารถนำปรับใช้ในการทำงานได้ เพื่อให้เป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างคนให้มีความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ ความรู้ด้านคณิตศาสตร์เชิงลึกและสถิติ เนื่องจากตลาดแรงงานในอนาคตต้องการแรงงานอัจฉริยะ (Smart Worker) มากขึ้น

          ประเด็นสำคัญคือ จะต้อง “บูรณาการ” กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตไร้รอยต่ออย่างคแท้จริง โดยให้ระบบอุดมศึกษาเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รับการศึกษาให้เกิดความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา รวมถึง ควรสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาซึ่งเป็นแหล่งผลิตฝีมือแรงงานสำคัญของประเทศ โดยการส่งเสริมให้มี “ระบบพี่เลี้ยง” เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่าง สถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ให้ผลิตบุคลากรมีทักษะที่พร้อมทำงาน มีความรู้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็งเข้ามามีส่วนร่วมการผลิตกำลังคนตั้งแต่ต้น เพื่อลดรอยต่อด้านการผลิตกำลังคนและปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัยควรจะมีมาตรการดึงดูดให้หน่วยงานเข้ามาร่วมพัฒนากำลังคนตั้งแต่ต้น ภายใต้ความร่วมมือกับกรม กอง ที่เกี่ยวข้องในการผลิตนักวิจัย เช่น กรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร ให้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย และจัดทำหลักสูตรร่วมกับต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการสร้างกำลังคนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

           ทั้งนี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะวัยแรงงานเท่านั้น แต่อาจจะต้องมีกลุ่มคนที่เกษียณแล้วดึงกลับมาในตลาดแรงงานด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรปัจจุบันมีอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงขณะที่สังคมสูงวัยขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพการศึกษา หลักสูตรในปัจจุบันอาจจะมีปริมาณมากพอแต่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งขนาดของสถาบันอุดมศึกษาก็มีผลกับการพัฒนาของสถาบันและการสร้างกำลังคน สถาบันอุดมศึกษาจึงควรส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพให้สอดคล้องประเด็นสำคัญ เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนา STEM ให้กับระบบการศึกษา ตลอดจนดึงดูดกำลังคนจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยพร้อมกับยกระดับแรงงานของคนไทยไปพร้อมกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ยังขาดกำลังคนอยู่มาก

          สำหรับแผนงานวิจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะเฉพาะ โครงการพัฒนาทักษะให้แรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ และโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง โดยมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าหลายแห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต่างก็มีทรัพยากรด้านการพัฒนากำลังคนที่สามารถเข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรระดับปฏิบัติการให้มีความพร้อมที่ออกจะไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู


วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

หวังเจาะตลาดพรีเมียม อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้


 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2562 มีการส่งออกผลทุเรียนและผลิตภัณฑ์แปรรูป (ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนกวน) มีปริมาณ 680,872.5 ตัน มีมูลค่ารวมถึง 51,035.7 ล้านบาท และกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณส่งออกทั้งหมดถูกส่งออกในรูปของทุเรียนสด (แบบผล และแบบแกะพู) ทุเรียนแบบผลแม้จะมีราคาต่ำกว่าทุเรียนแบบแกะพู แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเนื้อที่อยู่ในผลนั้นจะมีคุณภาพดีหรือไม่ การส่งออกทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆที่มีมูลค่าสูง แต่กระนั้น การส่งออกทุเรียนสดแบบแกะพูจะมีอุปสรรคที่สำคัญคือ อายุการเก็็บรักษาสั้น  จึงต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิดจากต้นทางของผู้ผลิต จนถึงปลายทางคือผู้บริโภค


 ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า อุปสรรคสำคัญของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูคือ เมื่อแกะเนื้อออกมาจากผลแล้วอายุในการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น จึงเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการส่งออกและการวางจำหน่าย จึงได้ศึกษาและพัฒนาแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี และได้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ วิธีดำเนินการลำดับแรกคือ ต้องคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐานแล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอททิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง ( "เอททิลีน" เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)  

กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพูจากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้นจึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์  ดังนั้น จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูคือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น  ในสหรัฐอเมริกาผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ  ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่นบรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน  

ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อคือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย

 ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหาเพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นงานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น  ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม

วช. โชว์ภาพความสำเร็จ การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ในอีก 20 ปี ข้างหน้า

วช. โชว์ภาพความสำเร็จ การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ในอีก 20 ปี ข้างหน้า

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand” เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและสร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยในอนาคต รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในมิติที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนในมุมที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางอนาคตประเทศไทย ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงวิชาการ อันนำไปสู่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ และประเทศ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) เป็นแผนงานที่ วช. ได้วางกรอบร่วมกับทางหลายหน่วยงาน ในการวางหลักการที่จะใช้ชุดข้อมูลจากเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม มาช่วยฉายภาพอนาคตของประเทศไทย ในภาพมิติต่าง ๆ ในส่วนนี้ วช. มีความคาดหวังว่า ส่วนของการทำงานที่จะฉายภาพในมิติสำคัญ ใน 9 ถึง 10 ด้าน 




มีการนำชุดข้อมูลที่สำคัญ  เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายระดับประเทศ และเพื่อที่จะสามารถออกแบบกระบวนการ  รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะนำไปทำมาตรการหรือที่จะนำไปเป็นกลไกต่าง ๆ สำหรับประเทศและภาคประชาชน กรอบของโครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand)  หลักการสำคัญก็คือ เรื่องของการวางภาพอนาคต ในระยะ 20 ปี  โดยมีการแบ่งส่วนของช่วงเวลาออกเป็นทุก 5 ปี เพื่อที่จะได้ชุดข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ดูเรื่องกรอบนโยบายระดับประเทศ อย่างเช่น ในส่วนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือในส่วนภาคนโยบายที่ได้นำประเด็นในชุดข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการออกแบบนโยบาย



ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า วช.ได้วางกรอบในส่วนของการศึกษาไว้ที่ 10 มิติสำคัญ และยังมองทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร เรื่องของมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติอัตลักษณ์ความเป็นไทย ทางด้านภาษาไทย มิติด้านการเมือง มิติคนไทย 4.0 และมิติด้านการศึกษา อีกหลายมิติที่คิดว่าจะนำไปเป็นกระบวนการร่วมกันตอบโจทย์การฉายภาพอนาคตประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานวิจัย สถาบันวิจัยชั้นนำที่รวมกัน 10 หน่วยงาน ก็จะมาใช้ภาพฉายของขอบเขตของการทำงานในเชิงของมิติต่าง ๆ ในการออกแบบกระบวนการที่มีความหลากหลายแต่มีจุดร่วมร่วมกัน คือ มองให้เห็นภาพของการที่จะนำชุดข้อมูลมาออกแบบนโยบายในอนาคต ซึ่งขณะนี้ในภาพใหญ่ของการออกแบบนโยบายคงไม่ได้มองเฉพาะในเรื่องเชิงกระบวนการ แต่คงจะมองในเรื่องของชุดข้อมูลร่วมที่จะนำส่งต่อจากทางภาควิจัยโดย วช. แต่ขณะนี้ยังอยู่ในเฟสที่ 1 คาดว่าหลังจากที่จบเฟสที่ 1 แล้ว ในชุดข้อมูลแรกก็จะไปเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “ภาพประเทศไทยในมิติของอนาคต : จากกรณีศึกษาสู่มิติการพัฒนา”, เรื่อง “แนวโน้มโลก แนวโน้มประเทศไทย” , เรื่อง “คนไทยในเมืองไทย 4.0”, เรื่อง “อนาคตชีวิตคนเมือง 4.0”, และเรื่อง “สังคมเปราะบางกับ COVID-19” การเสวนาในครั้งนี้ วช. จะรวบรวมเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยนำมาออกแบบเป็นนโยบาย หรือมาตรการ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

วิเคราะห์นโยบายเรียนฟรี

วิเคราะห์นโยบายเรียนฟรี  

ผ่านวาทกรรมด้านการศึกษาอดีตผู้นำโลก

          วิเคราะห์นโยบายเรียนฟรี ผ่านวาทกรรมด้านการศึกษาอดีตผู้นำโลกการศึกษาในฐานะเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ ชี้นโยบายเรียนฟรีขอไทยยังคงมีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบการบริหารและกระจายทรัพยากร    พร้อมแนะทางออกควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาให้เข้มแข็งยั่งยืนในอนาคต

          วาทกรรม ‘การศึกษาคือการลงทุน’ เป็นความเชื่อที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตั้งแต่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การมีอาชีพที่มั่นคง ไปจนถึงการสร้างรายได้ หากเด็กสองคนที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบเดียวกัน แต่มีเศรษฐานะต่างกันก็อาจมีช่องว่างระหว่างกันตั้งแต่ต้น ทั้งที่การศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน รัฐจึงควรสนับสนุนให้เกิดการศึกษาฟรีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 


ยิ่งมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ยิ่งมีโอกาสพัฒนาแรงงาน

          ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา มีนโยบาย Free Community College ที่เน้นการสนับสนุนชนชั้นแรงงานให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีของคนที่มีรายได้สูงเพื่อนำมาสนับสนุนการศึกษา ซึ่งนักศึกษาของวิทยาลัยท้องถิ่นโดยเฉลี่ยแล้วอายุ 28 ปี มีทั้งภาระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในครอบครัว การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในภาวะวิกฤติ COVID-19 จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้นักศึกษาเหล่านั้นไม่หลุดจากระบบไป

          ซาราห์ แฮนสัน-ยัง (Sarah Hanson-Young) สมาชิกวุฒิสภาพรรค Greens ในประเทศออสเตรเลีย ได้แสดงความเห็นผ่านบทความที่เผยแพร่ใน The Guardian ว่า ทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน จึงจำเป็นต้องเพิ่มทักษะแรงงานด้วยการศึกษา เพราะยังมีหลายอาชีพที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้และต้องใช้ทักษะระดับสูง ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาฟรี ไม่ใช่แค่ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อัตราค่าจ้างแรงงานในสังคมโดยรวมสูงขึ้น เพราะจำนวนของแรงงานที่จบการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นด้วย การสนับสนุนการศึกษาจึงเป็นทั้งเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวม


มองนโยบายเรียนฟรีของไทย ทำไมจึงไม่มีประสิทธิภาพ

          ในขณะที่ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยที่นักเรียนมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก และโอกาสที่เด็กจะได้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรีก็ยิ่งมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับสหรัฐและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงเล็งเห็นความสำคัญและพยายามออกนโยบายที่ช่วยให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘นโยบายเรียนฟรี 15 ปี’ เมื่อปี พ.ศ. 2557 แต่ผลของนโยบายกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

          รูปแบบของการดำเนินนโยบายเรียนฟรีเป็นการดำเนินการแบบปันส่วน ส่งผลให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเน้นไปที่การกระจายความเป็นธรรมแนวนอนมากกว่าความเป็นธรรมแนวตั้ง กล่าวคือ จัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว มากกว่าการสนับสนุนตามความจำเป็นเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย 

          นอกจากนี้ เมื่อนโยบายนำมาสู่การปฏิบัติในแต่ละสถานศึกษาก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะไม่มีคู่มือกำกับวิธีการอย่างชัดเจน และขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนเอง อีกทั้งยังเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียนเนื่องจากบุคลากรที่ดำเนินงานไม่เพียงพออีกด้วย

          โดยรวมแล้วการดำเนินนโยบายเรียนฟรีของประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายทรัพยากร ซึ่งเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับปัญหาอื่นๆ ในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน


เรียนฟรีเป็นไปได้ ถ้าขยายเพดานความเท่าเทียม

           นโยบายเรียนฟรีเป็นนโยบายที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การศึกษากลายเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง อันดับแรกคือการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ใช้สำหรับการจัดการข้อมูลของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรไปถึงนักเรียนในครัวเรือนยากจนได้จริง จากนั้นจึงกำหนดกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจน สนับสนุนทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินของบุคลากรในโรงเรียนต่างๆ และการยกเลิกเพดานการจัดสรรงบแบบรายหัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ การพัฒนาการศึกษาควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนและชุมชนสามารถร่วมมือกันเพื่อช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาให้เข้มแข็งได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

“กสศ.”สะท้อนปัญหาซ้ำซ้อนเด็กตกขอบ

“กสศ.”สะท้อนปัญหาซ้ำซ้อนเด็กตกขอบ 

ผ่านประสบการณ์จริงครูข้างถนน “ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี”  

แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ แต่สำหรับเด็กเปราะบางกลับมีปัญหาและปัจจัยมากมายที่ทับซ้อนจนพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ในชีวิตได้ และกลายเป็นเด็กนอกระบบในที่สุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้หยิบยกปัญหาซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นของเด็กนอกระบบหรือเด็กตกขอบ ผ่านเรื่องเล่าของ “ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี” ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กเปราะบางอย่างลูกแรงงานก่อสร้างและเด็กเร่ร่อนมาเกือบครึ่งชีวิตของเธอ 

            มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  นับเป็นหนึ่งมูลนิธิที่ทำงานกับเด็กนอกระบบ และทำงานเป็นหลักกับกลุ่มลูกแรงงานก่อสร้าง และเด็กเร่ร่อน เพื่อดูแลสวัสดิการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การอยู่ในแหล่งก่อสร้างอย่างปลอดภัย และนำเด็กเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด   ทางมูลนิธิได้ดำเนินการผ่าน ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’ เพื่อให้เข้าถึงเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น โดยจะมีรถโมไบล์เคลื่อนที่ไปตามแหล่งก่อสร้างต่างๆ จำนวน 16 แห่ง อาทิ แหล่งก่อสร้างของบริษัท อิตาเลียนไทย หลักหก และดอนเมือง เป็นต้น ภายในรถจะมีหนังสือและอุปกรณ์การเรียนเพื่อเสริมพัฒนาการและทักษะให้แก่เด็กๆ 

“เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างส่วนใหญ่แล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กข้ามชาติ ซึ่งปัญหาที่เราพบอยู่ตลอด คือพวกเขาไม่มีใบเกิดและใบรับรองการเกิด ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานประจำตัว และพ่อแม่ก็ต้องย้ายสถานที่ไปตามแคมป์งานอยู่ตลอด ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนหนังสือและเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา” 

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ครูจิ๋วจึงใช้มติคณะรัฐมนตรี ปี 2548 ที่เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย 

“เราใช้มติ ครม. นี้เป็นใบเบิกทางในการพาเด็กเข้าเรียน เด็กจะมีเอกสารหรือไม่ เราไม่สน เพราะต้องเอาเด็กเข้าเรียนให้ได้ก่อน ซึ่งมติ ครม. ปี 2548 ถือเป็นผลพลอยได้ให้เด็กที่ไม่มีเอกสารและหลักฐานสามารถเข้าเรียนได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะออกเอกสารประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G เหมือนเป็นคูปองให้เด็กกลุ่มนี้เข้าเรียนได้” 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีมติ ครม. ซึ่งช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทว่าจากการทำงานกับเด็กก่อสร้างและเด็กเร่ร่อน ทำให้ครูจิ๋วพบว่ายังมีปัญหาอื่นและปัจจัยอีกมากที่ไม่เอื้อให้เด็กเปราะบางกลุ่มนี้เข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ   ซึ่งครูจิ๋วได้สรุปปัญหาไว้ดังนี้ 

           ปัญหาแรก คือการเรียนและการศึกษาที่ไม่ฟรีทั้งหมด เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการศึกษาอีก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น จึงทำให้พ่อแม่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะส่งลูกเข้าเรียนได้ 

           ปัญหาที่สอง การรักษาพยาบาล แม้เด็กกลุ่มนี้บางคนจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ที่ได้สิทธิทางการศึกษา แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีจะเข้าถึงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น อาทิ การได้รับวัคซีนพื้นฐานอย่างบาดทะยัก วัณโรค แต่หากเป็นเรื่องความเจ็บป่วยอื่นๆ พวกเขาต้องจ่ายเต็มจำนวน ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ไม่มีทุนทรัพย์อยู่แล้วจึงไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า 

ปัญหาที่สาม เด็กออกกลางคัน ครูจิ๋วพบว่าเด็กบางคนอายุ 15 ปี แต่เพิ่งได้เรียนและเรียนในระดับชั้น ป.6 ทำให้เด็กอยากออกลางคัน เพราะอายุเกิน เป็นต้น 

ปัญหาที่สี่ เด็กเหล่านี้ถูกใช้แรงงานตั้งแต่อายุ 12 ปี เนื่องจากพ่อแม่อยากให้ลูกทำงานเพื่อช่วยกันหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งหน่วยงานเอกชนหรือรัฐไม่อนุญาตให้ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หรือองค์กรอื่นๆ เข้าถึงเด็กพวกนี้ เนื่องจากมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ 

ปัญหาที่ห้า เรื่องความปลอดภัยของเด็กในแหล่งก่อสร้าง กล่าวคือเมื่อพ่อแม่ของเด็กต้องออกไปทำงาน จะทำอย่างไรให้เด็กอยู่ได้ปลอดภัยจนกว่าผู้ปกครองจะกลับมา ดังนั้นสำหรับครูจิ๋วแล้ว เธอมองว่าการที่เด็กอยู่คนเดียวถือว่ามีอันตรายสูงมาก และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย เพราะฉะนั้นการมีรถโรงเรียนเคลื่อนที่เข้าไปในแหล่งก่อสร้างเหล่านี้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมง ก็สามารถช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งเด็กยังได้รับประทานอาหารและได้เรียนหนังสือไปพร้อมกันอีกด้วย 

ปัญหาที่หก การเคลื่อนย้ายแรงงานที่รวดเร็ว เพราะเมื่อเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจะทำให้การศึกษาของเด็กขาดความต่อเนื่อง 

ครูจิ๋วมองว่า การเปิดโอกาสให้เด็กเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้เด็กจะเข้าเรียนเพียงไม่กี่ปีแล้วออกนั้น ก็ถือเป็นการดีกว่าปล่อยให้เด็กทำได้เพียงแค่วิ่งเล่นในแคมป์ก่อสร้างโดยที่ไม่มีโอกาสได้เรียนเลย  

“ครูจิ๋วว่าการไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนเลย คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน เพราะฉะนั้นแม้แต่การเขียนชื่อตัวเอง เด็กทุกคนก็ควรจะเขียนได้ ถึงจะเป็นเด็กข้ามชาติ เมื่อเข้ามาไทย แม้จะเขียนชื่อและเรียนภาษาตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องได้ภาษาไทยเป็นอีกหนึ่งภาษาเพื่อนำไปใช้ในอนาคต ซึ่งถ้ามองในมิติที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นเรื่องที่องค์การอนามัยโลก และกติการะหว่างประเทศกำหนดไว้ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ว่าเด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิในการพัฒนา ดังนั้นพวกเขาต้องได้รับการศึกษา”  

ปัญหาที่เจ็ด เมื่อเด็กกลุ่มนี้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประเด็นแรกที่เด็กมักถูกถามคือ เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ 

คนที่บังคับใช้กฎหมายของไทย ชอบเอาข้อกฎหมายเป็นตัวแรกในการประเมินเด็ก”  

ครูจิ๋วมองว่า เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ คำถามที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรถามคือ เด็กถูกละเมิดโดยคนไทยหรือคนชาติเดียวกับตัวเอง ซึ่งสำหรับครูจิ๋วแล้วหากเด็กถูกละเมิดโดยคนไทย กฎหมายก็ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด แต่เด็กเหล่านี้มักตกเป็นฝ่ายถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ปี 2522 

“เขามีสิทธิที่จะมีชีวิต ถึงแม้ไม่ถูกกฎหมาย แต่ถ้าคนประเทศเราไปละเมิดเขา ก็ควรถูกดำเนินคดี ซึ่งครูจิ๋วคิดว่าการที่พวกเขาถูกถามแบบนี้แล้วโดนดำเนินคดีกลับ โดยไม่สนเลยว่าเขาเจออะไรมาบ้าง มันเหมือนเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำอีกเท่าตัวเลย” 

ปัญหาที่แปด การเข้าถึงยาก เนื่องด้วยระบบโครงสร้างภายในของแหล่งก่อสร้าง  

“บางบริษัทที่เป็นมหาชนทั้งหลายที่รับเงินก่อสร้างจากหน่วยงานราชการ เขาจะบอกว่ามี MOU ระหว่างประเทศ แต่บางโครงการผู้รับเหมาเป็นคนไทย และคนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เขาเลยไม่อยากให้หน่วยงานไหนเข้าไปวุ่นวายในแคมป์งาน 

“อีกอย่างแคมป์งานของเขาก็ไม่ถูกระบบทั้งหมด เช่น ห้องน้ำ กองขยะ การต่อไฟที่ไม่ถูกต้อง ซอกหลืบทางลับ ที่เด็กเข้าไปอาจเป็นอันตรายเพราะลับสายตา หรือแม้แต่สังกะสีที่เป็นทั้งฝ้า เพดาน ที่มุงหลังคา ไม่ได้มาตรฐานทั้งระบบ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เขาไม่อยากให้คนนอกเข้า” 

หนึ่งในตัวอย่างที่ครูจิ๋วยกให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงตัวเด็กภายในแหล่งก่อสร้างต่างๆ เธอเล่าว่าแหล่งก่อสร้างในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง แต่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กสามารถเข้าถึงเด็กได้เพียง 16 แห่งเท่านั้น และด้วยการปิดกั้นเช่นนี้ทำให้เด็กจำนวนมากยังคงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ 

            นอกจากนี้ ปัญหาของกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่มักพบ คือกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่รองรับและไม่ตรงจุดอย่างแท้จริง 

กล่าวคือ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 22 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งหมวดสงเคราะห์ว่าด้วยเด็กเร่ร่อนถือเป็นกลุ่ม 1 ใน 14 กลุ่มที่ว่าด้วยการสงเคราะห์ แต่กลับไม่มีวิธีการและการดำเนินการที่เฉพาะและตรงจุด  

“เมื่อพบเด็กเร่ร่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้กระบวนการเดียวกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจุดนี้ครูจิ๋วมองว่าทำไม่ถูก เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักบอกให้เราพาเด็กไปโรงพยาบาล แต่พอติดต่อโรงพยาบาล เขาก็จะให้ทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูเด็ก ซึ่งมันไม่ใช่ 

“การทำงานกับเด็กเร่ร่อน ต้องสร้างความไว้วางใจ และบอกกับเขาว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และเราจะทำงานด้วยกันอย่างไร เช่น ถ้าเด็กไม่มีเอกสาร เราจะใช้เอกสารแบบไหน จะติดตามพ่อแม่เขาได้อย่างไร หรือถ้าเขาไม่มีโอกาสได้เรียน จะเอาเข้าเรียนอย่างไร”  

จากปัญหาทับซ้อนทั้งหมดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักให้เด็กกลายเป็นเด็กนอกระบบและขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต เพียงเพราะขาดการศึกษาเป็นตัวตั้งต้น 

สำหรับครูจิ๋วแล้ว การศึกษาเป็นเสมือนใบเบิกทางของชีวิต เพราะ “การศึกษาทำให้เราอ่านออกเขียนได้ ไม่ต้องแปะโป้งไปตลอดชีวิต การศึกษาทำให้เรามีงาน ได้รับสวัสดิการต่างๆ และโอกาสมากมายในชีวิต”  

โควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาการศึกษา ปากท้อง คุณภาพชีวิต 

 เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครูจิ๋วเล่าว่า การจะทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ อย่างดีที่สุดคือการส่งอุปกรณ์การเรียน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดระบายสี หนังสือเรียนต่างๆ อย่างน้อยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหากถามถึงการเรียนออนไลน์นั้นคงเป็นไปได้ยาก   แต่ทั้งนี้ครูจิ๋วได้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาในสถานการณ์แบบนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องกังวลเช่นกัน 

กล่าวคือ จากการระบาดของโรคโควิด-19 เด็กเร่ร่อนถาวร (เด็กที่อยู่ตามท้องถนน) เด็กเร่ร่อนชั่วคราว (กลุ่มเด็กที่ต้องทำงานขายพวงมาลัย หรือเป็นขอทาน) และเด็กเร่ร่อนข้ามชาติ รวมถึงเด็กลูกแรงงานก่อสร้าง ต้องประสบปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ 

ครูจิ๋วยกตัวอย่างกรณีของแม่ลูกเร่ร่อนคู่หนึ่งที่ได้รับเชื้อโควิด โดยแม่ของเด็กถูกพบว่าได้รับเชื้อโควิดก่อนลูก ปัญหาที่น่ากังวลตามมาขณะรอผลตรวจลูก คือหากแม่ติด แต่ลูกไม่ติด ใครจะดูแลเด็ก 

ในช่วงที่ทราบว่าแม่รายนี้ได้รับเชื้อ และต้องรอผลการตรวจของลูก ครูจิ๋วจึงประสานงานกับบ้านพักเด็กและครอบครัวที่กรุงเทพฯ เพื่อรองรับเด็กในกรณีที่เด็กไม่ติดเชื้อ แต่สุดท้ายกลับพบว่าไม่สามารถให้เด็กอยู่ที่นี่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขบางประการ เช่น เด็กต้องถูกกักตัว 14 วัน หรือเด็กต้องมีผลตรวจชัดเจนก่อน ซึ่งครูจิ๋วชี้ว่าหากตรวจแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ แต่แม่เด็กต้องเข้ารับการรักษาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะดูแลเด็ก  

จากกรณีนี้แม้เด็กจะติดเชื้อโควิดและได้รับการรักษาแล้ว แต่สำหรับครูจิ๋ว เธอมองว่านี่คือปัญหาในการจัดการ และการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ถือเป็นผลดีและเด็กไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม การรับมือในกรณีที่ผู้ปกครองได้รับเชื้อ แต่เด็กไม่ได้รับนั้น ยังอยู่ระหว่างการหาทางออกร่วมกันกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  

อีกหนึ่งกรณีที่ครูจิ๋วให้ความสำคัญคือ กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อโควิด แต่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถออกไปทำงานหาเลี้ยงปากท้องได้ตามปกติ การช่วยเหลือจึงเป็นไปในรูปแบบการให้ถุงยังชีพ เพื่อให้พวกเขาพออยู่ได้ 

“ทั้งพ่อและแม่ไม่ติด เด็กก็ไม่ติด แต่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ เขาก็อด เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ข้าวสารอาหารแห้งต้องถึง เพื่อให้เขาอยู่ได้ เราก็ให้ข้าวสาร ปลากระป๋อง มาม่า ขนมปี๊บ นม น้ำ ทั้งครอบครัวเร่ร่อนและแหล่งก่อสร้าง ถามว่าพอไหม ไม่พอหรอก เราทำได้แค่พยุงเท่านั้น” 

ร่วมมือแก้ปัญหาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ 

   ภาพความเหลื่อมล้ำยิ่งปรากฏชัดขึ้น เมื่อครูจิ๋วยกตัวอย่างผ่านครอบครัวหนึ่งในชุมชนโค้งรถไฟยมราช  “พ่อเป็นยาม แม่ขายพวงมาลัย มีลูก 7 คน ลูกคนที่ 1-2 ช่วยแม่ทำงาน และคนที่ 3-7 หยุดเรียนและกำลังจะเข้าเรียน แต่เมื่อปีที่แล้วเด็กทุกคนไม่สามารถกลับเข้าไปเรียนได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ เด็กต้องทำงานช่วยพ่อแม่ แล้วเมื่อไม่นานมานี้เด็กก็ถูกจับและขึ้นทะเบียนกับ พม. ต้องถูกกันออกจากครอบครัวและถูกส่งไปสถานสงเคราะห์” 

ทางออกหนึ่ง ครูจิ๋วแก้ปัญหาโดยการติดตามเอกสาร และจากการที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้รับเงินสนับสนุน ครูจิ๋วจึงนำเงินส่วนนี้มาดูแลเด็ก ทั้งในเรื่องการศึกษา อาหาร และความเป็นอยู่ของเด็ก 

 “ถ้าเราพบปัญหาของเด็กแล้วไม่สนับสนุนอะไรเลย พวกเขาก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะไล่ตามช่วงอายุลงไปเรื่อยๆ จากรุ่นยาย มาสู่รุ่นแม่ และรุ่นลูก เพราะทุกคนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา เขามองว่าการศึกษาไม่ใช่คำตอบ” ครูจิ๋วกล่าวเสริม 

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและลดจำนวนเด็กเปราะบางอย่างกลุ่มที่ครูจิ๋วทำงานอยู่ เธอจึงเสนอการจะแก้ไขปัญหาโดยเน้นที่ความร่วมมือของเทศบาลเป็นสำคัญ 

“เพราะเทศบาลจะดูแลชุมชนประมาณ 12-50 ชุมชน ดังนั้นเขาต้องไปสกัดข้อมูลออกมาว่า เด็กคนไหนบ้างที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน เรียนไม่จบ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ ม.1 หน้าที่ครูเทศบาลต้องเข้าไปดูแล ตอนนี้มีเทศบาล 700 แห่ง ควรมีครู 700 คน อยู่ในเทศบาล เพื่อสกัดกั้นปัญหา” 

ครูจิ๋วยังมองอีกว่า เทศบาลต้องทำงานบูรณาการร่วมกับ พม. และ กศน. แต่ก็พบปัญหาว่าเด็กจะเข้าเรียน กศน. ได้ต้องมีเอกสารหลักฐาน ซึ่งสำหรับเธอแล้วข้อบังคับเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาคือกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง 

อีกหนึ่งความเห็นของครูจิ๋วคือ การให้ทุนการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ควรมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงทุนการศึกษาเทอมแรกเท่านั้น เพราะเธอเห็นว่าในปีต่อๆ ไป เด็กอาจหลุดจากระบบการศึกษาได้อีก เนื่องจากไม่มีเงินรองรับ เพราะครอบครัวยากจน  

“การจะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องมีหน่วยงานเข้าไปประคอง และไม่ใช่ประคองแค่ครั้งเดียว แต่ต้องประคองไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นจริงๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ซ้ำซ้อนแบบนี้ เพียงแค่การให้ทุนการศึกษาหรือให้การช่วยเหลือเป็นครั้งคราว อาจทำให้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วย 

“การทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแบบนี้ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย และออกแบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กกลุ่มนี้ อย่างน้อยที่สุดขอให้เด็กอ่านออกเขียนได้ หรือจบ ม.3 เพื่อให้เขามีอาชีพ ทำงานในโรงงาน มีประกันสังคม และเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่คิดเป็นแผนระยะยาว ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนต่อไปไม่จบสิ้น” ครูจิ๋วฝากทิ้งท้าย

เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ จูงมือชวนน้องอาแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มาแพค “ถุงยังชีพสร้างสรรค์”

โครงการข้าวเพื่อหมอ Food For Fighters กิจกรรม “MOVE ON FIGHTERS” พี่เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ จูงมือชวนน้องอาแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มาแพค “ถุงยังชีพสร้างสรรค์” พร้อมเปิดตัว “สติ๊กเกอร์ไลน์ MOVE ON FIGTHERS” โดยน้องแพรว รักชนก ช่วยเหลือ นักออกแบบรุ่นใหม่ จากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ  แถมด้วยTOP CHEFS กว่า 10 ชวนกันตบเท้าส่ง “ปิ่นโตโกราวด์” มาช่วยบุคคลากรทางการแพทย์และชาวชุมชนแออัดกับแคมป์คนงานแม้ตัวเองยังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ Food For Fighters สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตบำบัดฝึกหัดและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQ+ ชักชวนน้องอาแมนด้า ชาลิสา ออบดัม Top 10 Miss Universe มาจัดถุงยังชีพสร้างสรรค์ พร้อมเขียนข้อความให้กำลังใจผู้กักตัวในชุมชนแออัดและแคมป์คนงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เวลาเราเห็นคนอื่นลำบาก แล้วเรามีกำลังช่วย ทำไมเราถึงจะไม่ช่วยเค้า อแมนด้าเริ่มต้นทำงานจิตอาสามาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยความที่โตมากับเหตุการณ์สึนามิ ในตอนนั้น ผู้คนได้รับผลกระทบอย่างหนัก บ้านเรือนเสียหาย แต่ภูเก็ตสามารถฟื้นตัวได้เร็วมาก เพราะเราได้รับการช่วยเหลืออย่างล้นหลาม ในสถานการณ์โควิดครั้งนี้ พวกเราจำเป็นจะต้องจับมือกันข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ขอขอบคุณนักสู้ (fighters) ทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ บุคลากรทางการแพทย์ หรือทีมอาสาเราจะสู้ไปด้วยกันค่ะ” นางสาวอาแมนด้า ชาลิสา ออบดัมกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาเป็นอาสาสมัครในวันนี้

“โควิดครั้งนี้หนักหนามาก ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ทั้งความเป็นอยู่และสภาพจิตใจ หลังจากเขื่อนทราบว่า Food for Figthers รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เขื่อนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเขื่อนเชื่อว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเขื่อนขอให้กำลังใจและหวังว่าสิ่งเล็กๆที่เราพยายามส่งต่ออย่างเต็มที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนครับ” ภัทรดนัย เสตสุวรรณ “เขื่อน” กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมแพคถุงยังชีพ

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวสติ๊กเกอร์ไลน์และเสื้อยืด “MOVE ON FIGHTERS” เพื่อใช้ในการระดมทุนนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมาใช้ในการจัดซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อจัดทำ “ถุงยังชีพสร้างสรรค์” ซึ่งออกแบบโดยนักออกแบบจิตอาสารุ่นใหม่ นางสาวรักชนก ช่วยเหลือ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์เอกการประชาสัมพันธ์และโฆษณา ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยมีผลงานการออกแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ชุด “The Jewel Pet” มาก่อนหน้านั้น  “แพรวคิดว่าในฐานะที่เกิดมาในยุควิกฤต covid-19 คนรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องรับรู้ถึงความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มนุษย์จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อดำรงชีวิต และวิกฤตครั้งนี้จะไม่สามารถผ่านพ้นไปได้เลย หากปราศจากความร่วมมือของคนในสังคม กระบวนการทุกอย่างที่จะสามารถนำพาเราออกจากวิกฤต จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความเชื่อมั่น”

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งโครงการ Food For Fighters  “ดังที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังอยู่ในสภาวะวิกฤตส่งผลกระทบในแทบทุกด้าน ในทุกวันศูนย์เราเปิดทำการตั้งแต่ 09.00-17.00น. ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องการอาสาสมัครมาช่วยกันจัดข้าวและนำส่งให้กับทีมบุคคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ถูกกักตัวในชุมชนแออัด  และเรายังการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์และเสื้อยืดออกจำหน่ายเพื่อระดมการจัดหาทุนเพื่อให้เราสามารถที่จะนำมาจัดซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการช่วยร้านอาหาร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรวมถึงเกษตรกรตามหลักการ Support farmers, Support Fighters  และนอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นการรณรงค์ให้ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดขยะ จึงได้ขอให้เชฟระดับมิชลิน สตาร์ และท็อปเชฟที่เข้าร่วมกิจกรรมการส่ง “ปิ่นโตโกราวด์” นำส่งข้าวให้เราในรูปแบบของปิ่นโตที่คนไทยเราคุ้นเคยอีกด้วย เพราะปัญหาขยะในยุคโควิดนี้ยังเป็นประเด็นที่เราต้องช่วยกันหาทางจัดการแก้ไขด้วย”


เชฟหนุ่ม -ธนินทร จันทรวรรณ เชฟมิชลินสตาร์ 1 ดาวสี่ปีซ้อน จากร้านชิม บาย สยาม วิสดอมผู้มีส่วนสำคัญในการชักชวนเพื่อนเชฟมาร่วมส่งปิ่นโต  อาทิ เชฟแอนดี้ ยัง จากร้านผัดไทยไฟทะลุ เชฟต้น จากร้านบ้าน เชฟนิค จากวังหิ่งห้อย เชฟส้มจากร้าน Karmakamet Conveyance เชฟตุ๊กตาจากร้านบ้านยี่สาร  ร้านศรีตราด เชฟท่วีศักดิ์ พุทธาวงศ์ Money Pod เชฟคอลลิน ร้าน Tortilla Quemada เชฟกาเบรียล ทอซโซ ลูนา ร้าน L’OLIVA  เชฟไอซ์จากร้านเป็นลาว เชฟโฟล์ค ทีม Bocuse D’Or และกาดโกโก้ ร่วมกันนำอาหารมามอบให้กับชุมชนด้วย


อย่างไรก็ตามครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งมาร่วมงานด้วยกล่าวชื่นชมทีมจิตอาสา ฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ที่ทำงานในพื้นที่ชุมชนคลองเตยอย่างต่อเนื่องและไม่ท้อถอย ขณะนี้สถานการณ์ในชุมชนแออัดคลองเตยและโดยรอบยังหนักหน่วง เพราะสภาพความแออัดและการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยังคงมีความต้องการข้าวกล่อง อาหารแห้ง ถุงยังชีพอยู่


ผู้ที่สนใจสนับสนุนสติ๊กเกอร์ไลน์ MOVE ON FIGHTERS  ดาวน์โหลดได้ที่line sticker shop & สั่งซื้อเสื้อยืดเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆในโครงการได้ที่ FB:foodforfightersth  หรือสนับสนุนเป็นเงินบริจาคได้ที่บัญชี มูลนิธิคุวานันท์(หักลดหย่อนภาษีได้) ธนาคารไทยพาณิชย์ เบอร์บัญชี 109- 249780-3 ส่งสำเนาการโอนมาที่@silvervoyage Call Center 02- 0169910 สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม คุณเก่ง โทร. 084- 265- 5491, คุณพืช โทร. 086-564-0957





วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เปิดตัว “เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ”

เปิดตัว “เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ”

นวัตกรรมทางการแพทย์ จากฝีมือนักวิจัยไทย เทียบชั้น นวัตกรรมการแพทย์ระดับโลก


ประเทศไทยมีผู้ป่วยอัมพาตเพิ่มขึ้นปีละราว 1 แสนคน ในแต่ละปีต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขจำนวนมาก การดูแลผู้ป่วยอัมพาตจำเป็นต้องพลิกตัวเป็นประจำทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยในเรื่องนี้ต้องเสียเวลาและแรงงานของพยาบาล หรือญาติผู้ป่วยไม่น้อย เพราะหากไม่ทำแรงดันกดทับและความชื้นสะสมจากการที่อยู่ในตำแหน่งเดิม ทำให้เกิดแผลกดทับได้ และยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยแล้วหากเกิดแผลกดทับ แผลนั้นจะลุกลามได้รวดเร็วและรักษายากมากยิ่งขึ้น


ด้วยตระหนักถึงความทรมานของผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ และภาระของผู้ดูแลทั้งญาติและพยาบาล ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ แพทย์จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการวิจัย “เตียงพลิกตัวและวัสดุรองรับสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” โดยผศ.พญ.นลินี กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ช่วยในการพยุงตัวผู้ป่วยและลดปัญหาแผลกดทับจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พบรูปแบบเตียงที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการดมยาสลบเพื่อผ่าตัดให้กับผู้ป่วยพบว่าปัญหาแผลกดทับในห้องผ่าตัดเกิดขึ้นได้ถึง 12% คนไข้มีแผลผ่าตัดแล้วไม่ควรมีแผลที่อื่นอีก 


จึงพยายามคิดค้นวัสดุที่จะช่วยกระจายแรง ประกอบกับอยู่ในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเยอะจึงลองดูว่าการนำยางพารามาปรับโมเลกุลเพื่อให้มีคุณสมบัติการกระจายแรง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับน่าจะทำได้ จึงเกิดเป็น ผลิตภัณฑ์ “Doctor N Medigel” เจลยางพาราเพื่อป้องกันแผลกดทับ และใช้จัดท่าผู้ป่วยในห้องผ่าตัด จากนั้นจึงได้ทำวิจัยต่อเนื่องร่วมกับอาจารย์สมคิด สมนักพงษ์ จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ร่วมพัฒนาคิดค้นและออกแบบเตียงสำหรับผู้ป่วยอัมพาตและป้องกันแผลกดทับ หลอมรวมความเป็น dynamic support surface ของเตียงในการพลิกเปลี่ยนจุดกด กับ static support surface ของเบาะเจลยางพารา ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับมีสูงขึ้น และที่สำคัญสามารถผ่อนแรงของผู้ดูแลในการยกตัวเพื่อพลิกตะแคงซึ่งปกติต้องใช้คน 2-3 คนแต่หากใช้เตียงนี้จะใช้คนเพียงคนเดียวสามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยได้อย่างสบาย จากนั้นทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดเพื่อติดตั้ง software smart bed ทำให้สามารถตั้งเวลาควบคุมเตียงได้แบบออร์โตเมติก และยังมีระบบ central control สามารถควบคุมเตียงหลายๆเตียงผ่านทางหน้าจอเดียว เพื่อลดภาระของพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายเตียงในเวลาเดียวกันในช่วงการระบาดโควิด-19 ในเวลานี้ทางผู้วิจัยคาดว่าเตียงพลิกตะแคงพร้อม software smart bed จะสามารถช่วยพยาบาลในการพลิกคว่ำผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยหายใจได้ง่ายขึ้นทำให้สามารถลดจำนวนพยาบาลที่ต้องเสี่ยงเข้าไปดูแลผู้ป่วย 


ซึ่งขณะนี้ทางทีมงานได้พัฒนาคอนโทรลเลอร์และ software เพื่อให้ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์และ software ทางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อให้สามารถใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือ โรงพยาบาลระดับ จตุตถภูมิ (ระดับร.พ.ศูนย์ หรือ โรงเรียนแพทย์)ได้ และในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะสามารถติดตั้งที่โรงเรียนแพทย์ 2 แห่ง โดยทางวช.ได้ให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้านำเข้า และในอนาคตจะสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย โดย พญ.นลินีกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำนวัตกรรมต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ การจะฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวนวัตกรรม การนำงานวิจัยลงจากหิ้งมาสู่การใช้จริงมิใช่เรื่องง่าย แต่โชคดีที่รัฐบาลมีหน่วยงานอย่าง วช.มาเสริมทำให้นักวิจัยสามารถหลุดพ้นจากหุบเหวนวัตกรรมได้

ด้านดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ ถือว่าเป็นงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยซึ่งเป็นแพทย์กับอาชีวศึกษา ที่ร่วมกันวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระของพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งความสำเร็จของผลงานวิจัยนี้ ยังบ่งบอกว่า ความร่วมมือของนักวิจัยไทย สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์เทียบชั้นเครื่องมือทางการแพทย์ระดับโลกได้

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...