“กสศ.”สะท้อนปัญหาซ้ำซ้อนเด็กตกขอบ
ผ่านประสบการณ์จริงครูข้างถนน “ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี”
แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ แต่สำหรับเด็กเปราะบางกลับมีปัญหาและปัจจัยมากมายที่ทับซ้อนจนพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ในชีวิตได้ และกลายเป็นเด็กนอกระบบในที่สุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้หยิบยกปัญหาซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นของเด็กนอกระบบหรือเด็กตกขอบ ผ่านเรื่องเล่าของ “ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี” ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กเปราะบางอย่างลูกแรงงานก่อสร้างและเด็กเร่ร่อนมาเกือบครึ่งชีวิตของเธอ
มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก นับเป็นหนึ่งมูลนิธิที่ทำงานกับเด็กนอกระบบ และทำงานเป็นหลักกับกลุ่มลูกแรงงานก่อสร้าง และเด็กเร่ร่อน เพื่อดูแลสวัสดิการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การอยู่ในแหล่งก่อสร้างอย่างปลอดภัย และนำเด็กเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด ทางมูลนิธิได้ดำเนินการผ่าน ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’ เพื่อให้เข้าถึงเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น โดยจะมีรถโมไบล์เคลื่อนที่ไปตามแหล่งก่อสร้างต่างๆ จำนวน 16 แห่ง อาทิ แหล่งก่อสร้างของบริษัท อิตาเลียนไทย หลักหก และดอนเมือง เป็นต้น ภายในรถจะมีหนังสือและอุปกรณ์การเรียนเพื่อเสริมพัฒนาการและทักษะให้แก่เด็กๆ
“เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างส่วนใหญ่แล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กข้ามชาติ ซึ่งปัญหาที่เราพบอยู่ตลอด คือพวกเขาไม่มีใบเกิดและใบรับรองการเกิด ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานประจำตัว และพ่อแม่ก็ต้องย้ายสถานที่ไปตามแคมป์งานอยู่ตลอด ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนหนังสือและเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา”
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ครูจิ๋วจึงใช้มติคณะรัฐมนตรี ปี 2548 ที่เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
“เราใช้มติ ครม. นี้เป็นใบเบิกทางในการพาเด็กเข้าเรียน เด็กจะมีเอกสารหรือไม่ เราไม่สน เพราะต้องเอาเด็กเข้าเรียนให้ได้ก่อน ซึ่งมติ ครม. ปี 2548 ถือเป็นผลพลอยได้ให้เด็กที่ไม่มีเอกสารและหลักฐานสามารถเข้าเรียนได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะออกเอกสารประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G เหมือนเป็นคูปองให้เด็กกลุ่มนี้เข้าเรียนได้”
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีมติ ครม. ซึ่งช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทว่าจากการทำงานกับเด็กก่อสร้างและเด็กเร่ร่อน ทำให้ครูจิ๋วพบว่ายังมีปัญหาอื่นและปัจจัยอีกมากที่ไม่เอื้อให้เด็กเปราะบางกลุ่มนี้เข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งครูจิ๋วได้สรุปปัญหาไว้ดังนี้
ปัญหาแรก คือการเรียนและการศึกษาที่ไม่ฟรีทั้งหมด เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการศึกษาอีก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น จึงทำให้พ่อแม่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะส่งลูกเข้าเรียนได้
ปัญหาที่สอง การรักษาพยาบาล แม้เด็กกลุ่มนี้บางคนจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ที่ได้สิทธิทางการศึกษา แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีจะเข้าถึงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น อาทิ การได้รับวัคซีนพื้นฐานอย่างบาดทะยัก วัณโรค แต่หากเป็นเรื่องความเจ็บป่วยอื่นๆ พวกเขาต้องจ่ายเต็มจำนวน ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ไม่มีทุนทรัพย์อยู่แล้วจึงไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า
ปัญหาที่สาม เด็กออกกลางคัน ครูจิ๋วพบว่าเด็กบางคนอายุ 15 ปี แต่เพิ่งได้เรียนและเรียนในระดับชั้น ป.6 ทำให้เด็กอยากออกลางคัน เพราะอายุเกิน เป็นต้น
ปัญหาที่สี่ เด็กเหล่านี้ถูกใช้แรงงานตั้งแต่อายุ 12 ปี เนื่องจากพ่อแม่อยากให้ลูกทำงานเพื่อช่วยกันหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งหน่วยงานเอกชนหรือรัฐไม่อนุญาตให้ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หรือองค์กรอื่นๆ เข้าถึงเด็กพวกนี้ เนื่องจากมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่
ปัญหาที่ห้า เรื่องความปลอดภัยของเด็กในแหล่งก่อสร้าง กล่าวคือเมื่อพ่อแม่ของเด็กต้องออกไปทำงาน จะทำอย่างไรให้เด็กอยู่ได้ปลอดภัยจนกว่าผู้ปกครองจะกลับมา ดังนั้นสำหรับครูจิ๋วแล้ว เธอมองว่าการที่เด็กอยู่คนเดียวถือว่ามีอันตรายสูงมาก และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย เพราะฉะนั้นการมีรถโรงเรียนเคลื่อนที่เข้าไปในแหล่งก่อสร้างเหล่านี้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมง ก็สามารถช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งเด็กยังได้รับประทานอาหารและได้เรียนหนังสือไปพร้อมกันอีกด้วย
ปัญหาที่หก การเคลื่อนย้ายแรงงานที่รวดเร็ว เพราะเมื่อเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจะทำให้การศึกษาของเด็กขาดความต่อเนื่อง
ครูจิ๋วมองว่า การเปิดโอกาสให้เด็กเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้เด็กจะเข้าเรียนเพียงไม่กี่ปีแล้วออกนั้น ก็ถือเป็นการดีกว่าปล่อยให้เด็กทำได้เพียงแค่วิ่งเล่นในแคมป์ก่อสร้างโดยที่ไม่มีโอกาสได้เรียนเลย
“ครูจิ๋วว่าการไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนเลย คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน เพราะฉะนั้นแม้แต่การเขียนชื่อตัวเอง เด็กทุกคนก็ควรจะเขียนได้ ถึงจะเป็นเด็กข้ามชาติ เมื่อเข้ามาไทย แม้จะเขียนชื่อและเรียนภาษาตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องได้ภาษาไทยเป็นอีกหนึ่งภาษาเพื่อนำไปใช้ในอนาคต ซึ่งถ้ามองในมิติที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นเรื่องที่องค์การอนามัยโลก และกติการะหว่างประเทศกำหนดไว้ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ว่าเด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิในการพัฒนา ดังนั้นพวกเขาต้องได้รับการศึกษา”
ปัญหาที่เจ็ด เมื่อเด็กกลุ่มนี้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประเด็นแรกที่เด็กมักถูกถามคือ เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่
คนที่บังคับใช้กฎหมายของไทย ชอบเอาข้อกฎหมายเป็นตัวแรกในการประเมินเด็ก”
ครูจิ๋วมองว่า เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ คำถามที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรถามคือ เด็กถูกละเมิดโดยคนไทยหรือคนชาติเดียวกับตัวเอง ซึ่งสำหรับครูจิ๋วแล้วหากเด็กถูกละเมิดโดยคนไทย กฎหมายก็ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด แต่เด็กเหล่านี้มักตกเป็นฝ่ายถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ปี 2522
“เขามีสิทธิที่จะมีชีวิต ถึงแม้ไม่ถูกกฎหมาย แต่ถ้าคนประเทศเราไปละเมิดเขา ก็ควรถูกดำเนินคดี ซึ่งครูจิ๋วคิดว่าการที่พวกเขาถูกถามแบบนี้แล้วโดนดำเนินคดีกลับ โดยไม่สนเลยว่าเขาเจออะไรมาบ้าง มันเหมือนเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำอีกเท่าตัวเลย”
ปัญหาที่แปด การเข้าถึงยาก เนื่องด้วยระบบโครงสร้างภายในของแหล่งก่อสร้าง
“บางบริษัทที่เป็นมหาชนทั้งหลายที่รับเงินก่อสร้างจากหน่วยงานราชการ เขาจะบอกว่ามี MOU ระหว่างประเทศ แต่บางโครงการผู้รับเหมาเป็นคนไทย และคนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เขาเลยไม่อยากให้หน่วยงานไหนเข้าไปวุ่นวายในแคมป์งาน
“อีกอย่างแคมป์งานของเขาก็ไม่ถูกระบบทั้งหมด เช่น ห้องน้ำ กองขยะ การต่อไฟที่ไม่ถูกต้อง ซอกหลืบทางลับ ที่เด็กเข้าไปอาจเป็นอันตรายเพราะลับสายตา หรือแม้แต่สังกะสีที่เป็นทั้งฝ้า เพดาน ที่มุงหลังคา ไม่ได้มาตรฐานทั้งระบบ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เขาไม่อยากให้คนนอกเข้า”
หนึ่งในตัวอย่างที่ครูจิ๋วยกให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงตัวเด็กภายในแหล่งก่อสร้างต่างๆ เธอเล่าว่าแหล่งก่อสร้างในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง แต่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กสามารถเข้าถึงเด็กได้เพียง 16 แห่งเท่านั้น และด้วยการปิดกั้นเช่นนี้ทำให้เด็กจำนวนมากยังคงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
นอกจากนี้ ปัญหาของกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่มักพบ คือกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่รองรับและไม่ตรงจุดอย่างแท้จริง
กล่าวคือ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 22 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งหมวดสงเคราะห์ว่าด้วยเด็กเร่ร่อนถือเป็นกลุ่ม 1 ใน 14 กลุ่มที่ว่าด้วยการสงเคราะห์ แต่กลับไม่มีวิธีการและการดำเนินการที่เฉพาะและตรงจุด
“เมื่อพบเด็กเร่ร่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้กระบวนการเดียวกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจุดนี้ครูจิ๋วมองว่าทำไม่ถูก เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักบอกให้เราพาเด็กไปโรงพยาบาล แต่พอติดต่อโรงพยาบาล เขาก็จะให้ทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูเด็ก ซึ่งมันไม่ใช่
“การทำงานกับเด็กเร่ร่อน ต้องสร้างความไว้วางใจ และบอกกับเขาว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และเราจะทำงานด้วยกันอย่างไร เช่น ถ้าเด็กไม่มีเอกสาร เราจะใช้เอกสารแบบไหน จะติดตามพ่อแม่เขาได้อย่างไร หรือถ้าเขาไม่มีโอกาสได้เรียน จะเอาเข้าเรียนอย่างไร”
จากปัญหาทับซ้อนทั้งหมดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักให้เด็กกลายเป็นเด็กนอกระบบและขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต เพียงเพราะขาดการศึกษาเป็นตัวตั้งต้น
สำหรับครูจิ๋วแล้ว การศึกษาเป็นเสมือนใบเบิกทางของชีวิต เพราะ “การศึกษาทำให้เราอ่านออกเขียนได้ ไม่ต้องแปะโป้งไปตลอดชีวิต การศึกษาทำให้เรามีงาน ได้รับสวัสดิการต่างๆ และโอกาสมากมายในชีวิต”
โควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาการศึกษา ปากท้อง คุณภาพชีวิต
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครูจิ๋วเล่าว่า การจะทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ อย่างดีที่สุดคือการส่งอุปกรณ์การเรียน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดระบายสี หนังสือเรียนต่างๆ อย่างน้อยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหากถามถึงการเรียนออนไลน์นั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่ทั้งนี้ครูจิ๋วได้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาในสถานการณ์แบบนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องกังวลเช่นกัน
กล่าวคือ จากการระบาดของโรคโควิด-19 เด็กเร่ร่อนถาวร (เด็กที่อยู่ตามท้องถนน) เด็กเร่ร่อนชั่วคราว (กลุ่มเด็กที่ต้องทำงานขายพวงมาลัย หรือเป็นขอทาน) และเด็กเร่ร่อนข้ามชาติ รวมถึงเด็กลูกแรงงานก่อสร้าง ต้องประสบปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่
ครูจิ๋วยกตัวอย่างกรณีของแม่ลูกเร่ร่อนคู่หนึ่งที่ได้รับเชื้อโควิด โดยแม่ของเด็กถูกพบว่าได้รับเชื้อโควิดก่อนลูก ปัญหาที่น่ากังวลตามมาขณะรอผลตรวจลูก คือหากแม่ติด แต่ลูกไม่ติด ใครจะดูแลเด็ก
ในช่วงที่ทราบว่าแม่รายนี้ได้รับเชื้อ และต้องรอผลการตรวจของลูก ครูจิ๋วจึงประสานงานกับบ้านพักเด็กและครอบครัวที่กรุงเทพฯ เพื่อรองรับเด็กในกรณีที่เด็กไม่ติดเชื้อ แต่สุดท้ายกลับพบว่าไม่สามารถให้เด็กอยู่ที่นี่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขบางประการ เช่น เด็กต้องถูกกักตัว 14 วัน หรือเด็กต้องมีผลตรวจชัดเจนก่อน ซึ่งครูจิ๋วชี้ว่าหากตรวจแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ แต่แม่เด็กต้องเข้ารับการรักษาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะดูแลเด็ก
จากกรณีนี้แม้เด็กจะติดเชื้อโควิดและได้รับการรักษาแล้ว แต่สำหรับครูจิ๋ว เธอมองว่านี่คือปัญหาในการจัดการ และการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ถือเป็นผลดีและเด็กไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การรับมือในกรณีที่ผู้ปกครองได้รับเชื้อ แต่เด็กไม่ได้รับนั้น ยังอยู่ระหว่างการหาทางออกร่วมกันกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
อีกหนึ่งกรณีที่ครูจิ๋วให้ความสำคัญคือ กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อโควิด แต่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถออกไปทำงานหาเลี้ยงปากท้องได้ตามปกติ การช่วยเหลือจึงเป็นไปในรูปแบบการให้ถุงยังชีพ เพื่อให้พวกเขาพออยู่ได้
“ทั้งพ่อและแม่ไม่ติด เด็กก็ไม่ติด แต่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ เขาก็อด เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ข้าวสารอาหารแห้งต้องถึง เพื่อให้เขาอยู่ได้ เราก็ให้ข้าวสาร ปลากระป๋อง มาม่า ขนมปี๊บ นม น้ำ ทั้งครอบครัวเร่ร่อนและแหล่งก่อสร้าง ถามว่าพอไหม ไม่พอหรอก เราทำได้แค่พยุงเท่านั้น”
ร่วมมือแก้ปัญหาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
ภาพความเหลื่อมล้ำยิ่งปรากฏชัดขึ้น เมื่อครูจิ๋วยกตัวอย่างผ่านครอบครัวหนึ่งในชุมชนโค้งรถไฟยมราช “พ่อเป็นยาม แม่ขายพวงมาลัย มีลูก 7 คน ลูกคนที่ 1-2 ช่วยแม่ทำงาน และคนที่ 3-7 หยุดเรียนและกำลังจะเข้าเรียน แต่เมื่อปีที่แล้วเด็กทุกคนไม่สามารถกลับเข้าไปเรียนได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ เด็กต้องทำงานช่วยพ่อแม่ แล้วเมื่อไม่นานมานี้เด็กก็ถูกจับและขึ้นทะเบียนกับ พม. ต้องถูกกันออกจากครอบครัวและถูกส่งไปสถานสงเคราะห์”
ทางออกหนึ่ง ครูจิ๋วแก้ปัญหาโดยการติดตามเอกสาร และจากการที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้รับเงินสนับสนุน ครูจิ๋วจึงนำเงินส่วนนี้มาดูแลเด็ก ทั้งในเรื่องการศึกษา อาหาร และความเป็นอยู่ของเด็ก
“ถ้าเราพบปัญหาของเด็กแล้วไม่สนับสนุนอะไรเลย พวกเขาก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะไล่ตามช่วงอายุลงไปเรื่อยๆ จากรุ่นยาย มาสู่รุ่นแม่ และรุ่นลูก เพราะทุกคนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา เขามองว่าการศึกษาไม่ใช่คำตอบ” ครูจิ๋วกล่าวเสริม
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและลดจำนวนเด็กเปราะบางอย่างกลุ่มที่ครูจิ๋วทำงานอยู่ เธอจึงเสนอการจะแก้ไขปัญหาโดยเน้นที่ความร่วมมือของเทศบาลเป็นสำคัญ
“เพราะเทศบาลจะดูแลชุมชนประมาณ 12-50 ชุมชน ดังนั้นเขาต้องไปสกัดข้อมูลออกมาว่า เด็กคนไหนบ้างที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน เรียนไม่จบ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ ม.1 หน้าที่ครูเทศบาลต้องเข้าไปดูแล ตอนนี้มีเทศบาล 700 แห่ง ควรมีครู 700 คน อยู่ในเทศบาล เพื่อสกัดกั้นปัญหา”
ครูจิ๋วยังมองอีกว่า เทศบาลต้องทำงานบูรณาการร่วมกับ พม. และ กศน. แต่ก็พบปัญหาว่าเด็กจะเข้าเรียน กศน. ได้ต้องมีเอกสารหลักฐาน ซึ่งสำหรับเธอแล้วข้อบังคับเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาคือกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
อีกหนึ่งความเห็นของครูจิ๋วคือ การให้ทุนการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ควรมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงทุนการศึกษาเทอมแรกเท่านั้น เพราะเธอเห็นว่าในปีต่อๆ ไป เด็กอาจหลุดจากระบบการศึกษาได้อีก เนื่องจากไม่มีเงินรองรับ เพราะครอบครัวยากจน
“การจะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องมีหน่วยงานเข้าไปประคอง และไม่ใช่ประคองแค่ครั้งเดียว แต่ต้องประคองไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นจริงๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ซ้ำซ้อนแบบนี้ เพียงแค่การให้ทุนการศึกษาหรือให้การช่วยเหลือเป็นครั้งคราว อาจทำให้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วย
“การทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแบบนี้ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย และออกแบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กกลุ่มนี้ อย่างน้อยที่สุดขอให้เด็กอ่านออกเขียนได้ หรือจบ ม.3 เพื่อให้เขามีอาชีพ ทำงานในโรงงาน มีประกันสังคม และเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่คิดเป็นแผนระยะยาว ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนต่อไปไม่จบสิ้น” ครูจิ๋วฝากทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น