วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รวมพลคนวิจัย ระดมสมองพัฒนากลไก ผลักงานวิจัย - นวัตกรรมไทยใช้ประโยชน์

สกสว. เปิดฟลอร์ระดมสมอง เร่งพัฒนากลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หวังงานวิจัย-นวัตกรรมไทย สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้คุ้มค่าการลงทุน    

25 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) รัฐสภาลงมติรับหลักการร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ที่ถือเป็นการปลดล็อคกฎหมายให้นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมออนไลน์ระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบ และการกำหนดนิยามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์” เพื่อให้นักวิจัย ผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ทั้งจากหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิตงานวิจัย หน่วยงานที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย และหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกว่า 100 ท่าน ร่วมกันระดมสมองหารือเกี่ยวกับนิยามและกรอบแนวคิด รวมถึงกลไกที่ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในแต่ละด้าน เพื่อจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ สกสว.นำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบระบบ รวมถึงการออกคู่มือให้กับหน่วยงานและนักวิจัยในระบบ ววน. ได้ใช้เป็นแนวทางในการผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อไป

รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ตามที่ได้มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณวิจัยได้อย่างมีทิศทางและมีความคล่องตัว ลดความทับซ้อนของงานวิจัย ผลิตผลงานวิจัยได้ตรงกับความต้องการของประเทศ ที่ผ่านมาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรมตามที่ภาคนโยบายและสาธารณชนคาดหวังได้อย่างเต็มที่  สกสว.เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นอกจากจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงระบบส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของประเทศ ซึ่งระบบดังกล่าวจะไปเกี่ยวข้องกับระบบติดตามประเมินผลซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้สังคมเห็นผลลัพธ์และความสำคัญในการลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรม  เนื่องจากระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเกี่ยวกับกรอบแนวคิดและนิยามการใช้ประโยชน์ รวมถึงกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯในวันนี้ขึ้น

ด้าน รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์  สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า  ปัจจุบัน สกสว. แบ่งประเภทของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization หรือ RU) ตามผู้ใช้ประโยชน์ (Users)  4 ด้าน คือ นโยบาย เศรษฐกิจ สังคม  และวิชาการ  ในด้านนโยบาย ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานระดับนโยบาย เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดนโยบาย แผน แนวปฏิบัติ ระเบียบ มาตรการ กฎหมาย หรือใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยผู้ประกอบการทุกขนาดรวมถึง สตาร์ทอัพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ด้านสังคม  ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยชุมชน สังคม หรือคนในพื้นที่เป้าหมายเปลี่ยนระบบคิด พฤติกรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และด้านวิชาการ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยนักวิชาการ นักวิจัยหรือคนในแวดวงวิชาการ นำไปสู่การเรียนรู้  จนเกิดการเผยแพร่และต่อยอดองค์ความรู้  โดยทั้ง 4 ด้าน ต้องสามารถแสดงหลักฐานการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน

ทั้งนี้จากการระดมความเห็น ได้ข้อสรุปสำคัญ คือ ทางด้านนโยบาย  มีข้อเสนอแนะว่า ควรคำนึงการใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมทั้ง  3 ฝ่าย  คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ปัญหาสำคัญที่ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการนโยบาย คือ 1)ส่วนใหญ่ความต้องการงานวิจัยมาอย่างรวดเร็ว กระบวนการทำวิจัยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการให้ทุนในรูปแบบใหม่ 2)ข้อเสนอแนะทางนโยบายขาดความคมชัด 3) งานวิจัยไม่ตอบโจทย์ ขาดเวทีสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ ควรมีการจัดตั้งหน่วยเชื่อมประสานเพื่อให้มีการรับส่งโจทย์วิจัยจากผู้ใช้ รวมไปถึงกระบวนการออกแบบนโยบายร่วมกัน 4) ขาดนักวิจัยด้านนโยบายรุ่นใหม่ ควรมีกลไกสนับสนุนงบประมาณสร้างนักวิจัยด้านนโยบาย เป็นต้น ทางด้านเศรษฐกิจ มีข้อเสนอแนะที่คล้ายคลึงกันคือ ยังขาดการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและงานวิจัยเช่นกัน การสร้างนวัตกรรมต้องมีกลไกภาครัฐคอยขับดันเช่นภาครัฐการันตีการเป็นผู้ซื้อนวัตกรรม  ผู้ประกอบการยังไม่สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการพัฒนานวัตกรรมไปถึงขั้นที่พร้อมใช้ สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เพียงตัวต้นแบบ  โดยทุกภาคส่วนต้องเห็นภาพเดียวกันตลอดห่วงโซ่ (Value Chain) ทางด้านสังคม  จากการระดมความเห็น มีการให้ปรับนิยาม และข้อเสนอแนะว่าควรสร้างกลไกให้นักวิจัยสามารถมองเห็นเป้าหมายทั้งเป้าหมายหลักและรองได้  นอกจากนี้ในการสนับสนุนงบประมาณ ควรมีการจัดสรรงบด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากงบประมาณวิจัยกล่าวคือมีการแยกส่วนกัน  ท้ายที่สุดนักวิจัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกที่ทำให้มองเห็นปลายทาง และการประเมินผลกระทบ (Impact Pathway)  ได้ ทางด้านวิชาการ มีข้อเสนอแนะว่า นิยามควรมีการเพิ่มเติม ผลกระทบทางวิชาการในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นจริยธรรม กำหนดผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ ในศาสตร์หลายศาสตร์อย่างมนุษยศาสตร์ให้ชัดเจนขึ้น ในเรื่องการตีพิมพ์ การประเมินผลควรนับการตีพิมพ์อื่นๆนอกเหนือจากการตีพิมพ์ทางด้านวิชาการด้วย เพราะเข้าถึงสาธารณชน ด้านผลกระทบ ควรตั้งเป้าหมายไปถึง นักวิชาการไทยได้รับการยอมรับระดับสากล เป็นต้น  นอกจากนี้ในความป็นจริง งานด้านวิชาการไม่สามารถระบุผลกระทบได้ในระยะเวลาสั้น ควรมีหน่วยงานกลางสนับสนุนงานด้านข้อมูลได้ทั้งหมด ควรสร้างกลไกเชื่อมโยงประสานการทำงาน ซึ่งจากการประชุมจะเห็นได้ว่าระบบ ววน.ยังคงต้องการกลไกและหน่วยที่จะเชื่อมโยงการทำงานกัน 

ข้อสรุปจากการระดมสมองวันนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ สกสว. จะนำไปออกแบบแนวทางการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนให้งานวิจัยและนวัตกรรมจนสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำให้การติดตามและประเมินผลลัพธ์และผลกระทบการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

" Dining Experience in Khao Yai with Michelin Star Chef " ครั้งที่ 1 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ผ่านพ้นไปด้วยดีท่ามกลางบรรยากาศไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ เชฟหนุ่ม “ธนินธร จันทรวรรณ”  เชฟมิชลิน สตาร์ 4 ปีซ้อนรังสรรค์เมนูอาหารแบบจัดเต็ม 7 คอร์ส ทั้งอาหารคาวและหวานโดยนำวัตถุดิบ อาทิ ข้าวโพดจากไร่สุวรรณ หมูชีวา ไก่เบญจา พริกไทยอ่อนสดจากสวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ปากช่อง, ผักสดและสมุนไพรจากไร่คุณตั๊ก พรมชน, บีทรูทและมะเขือเทศจากกรีนมี ออร์แกนิกส์, ปลาช่อนและปลาคังย่างจาก บ้านแม่สเต็กตัวพ่อ ฯลฯ วัตถุดิบ 80% ล้วนผลิตในท้องถิ่นอำเภอปากช่อง สะท้อนความมั่นคงทางด้านอาหารเกษตรอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการจับคู่กับไวน์จากไร่องุ่นกรานมอนเต้ทั้ง 5ชนิดไล่เรียงกันมาอย่างครบถ้วนเรียกว่าจัดเต็มแบบไม่มีใครยอมใคร

เชฟหนุ่มบอกความรู้สึกว่า “ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแก้ตาหลังจากที่เคยได้ร่วมงานกับคุณนิกกี้ “ วิสุตา โลหิตนาวี ” ครั้งที่ไปจัดงานที่กรุงมะนิลาด้วยกัน ” นอกจากนี้เชฟหนุ่มยังยอมรับว่า “ วัตถุดิบที่ทางผู้ประกอบการสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่จัดไปส่งไปให้เพื่อการเตรียมงานนั้นถือว่าสดและมีคุณภาพดีมาก อาหารและขนมหวานที่นำมาเสิร์ฟในคืนนี้ผ่านการคิดและค้นคว้าถึงรากเหง้าของอาหารพื้นถิ่นอีสาน ” 

ในงานดังกล่าวนี้เปิดตัวด้วยการกล่าวต้อนรับจากเจ้าภาพสถานที่ “คุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี”  ผู้ก่อตั้งไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ซึ่งก่อนหน้านั้นได้นำคณะผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนชมฟาร์มและบรรยายขั้นตอนการปลูกองุ่นและการทำไวน์ด้วยตนเองร่วมกับคุณนิกกี้ก่อนที่จะนำแขกทั้งหมดกลับมาเลือกชม ช้อป ผลิตภัณฑ์จากโครงการ “Khao Yai Select” ในกิจกรรม “ขาย ของ เขา ( ใหญ่) ”ที่มาวางในงานนี้ เช่น ร้านจากไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ , ออล อโวคาโด , ทรู , ผ้าไหม “หยาดป่า” จากศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ, ผักอินทรีย์จากไร่คุณตั๊ก พรมชน ,ไร่โชตวันและกาแฟดริปเขายายเที่ยง

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานและขอบคุณผู้สนับสนุน สื่อมวลชนและแขกที่มาร่วมงานดินเนอร์สุดพิเศษซึ่งถือว่าเป็นรอบพรีเมียร์  โดยที่การจัดงานในครั้งนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ผู้ประกอบการในเขาใหญ่ต้องการยกระดับการพัฒนาการบริการให้ก้าวเข้าสู่ระดับพรีเมี่ยม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ทางด้านอาหารให้กับเขาใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงอาหารอยู่แล้ว ประกอบกับเขาใหญ่มีชื่อเสียงด้านธรรมชาติ อากาศที่ดีและมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงนิเวศน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากองค์ประกอบเหล่านี้หากเราพัฒนาไปในทางที่สอดคล้องกับการเติบโตของการท่องเที่ยวแล้วย่อมจะทำให้เขาใหญ่เป็นหมุดหมายสำคัญของนักเดินทางและรองรับนโยบายการเป็นเมืองจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ( MICE) ของจังหวัดนครราชสีมาได้


และในงานนี้ได้รับเกียรติจากนางภาวนา ประจิตต์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครราชสีมาเป็นประธานในการจัดงานในฐานะผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความร่วมแรงร่วมใจของผู้ประกอบการและหวังว่าจะเป็นการช่วยให้เกิดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวและพักค้างคืนมากขึ้นจากกิจกรรมนี้และสามารถพัฒนาเชื่อมโยงกับการท่องเทีย่วด้านต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์,การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและจะก่อให้เกิดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ทั้งอำเภอปากช่องและอำเภอวังน้ำเขียวได้ตลอดปี” 


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุน สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ สถาบันอาหาร ร่วมกับชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารปากช่อง บริษัท เวิลด์ รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด ทีมสามประสานปากช่องบริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการ เกษตรกรในอำเภอปากช่อง จัดกิจกรรม " Dining Experience in Khao Yai with Michelin Star Chef" ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ “เขาใหญ่ม่วนซื่น”  โดยจะจัดให้มีกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในหุบเขาแห่งความสุขตลอดปี 2564-2565 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้นําในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม (Preferred Destination) อย่างยั่งยืน  


อย่างไรก็ตาม ก่อนวันงาน (19 กุมภาพันธ์ ) ได้มีการฝึกสอนการบริการระดับพรีเมี่ยมให้กับนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคปากช่องจำนวน 10 คนพร้อมอาจารย์ผู้ควบคุมการสอน และตัวแทนจากผู้ประกอบการอาทิจากโรงแรมแกรนด์สิริ รีสอร์ท,ร้านเป็นลาวและไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ เข้าร่วมฝึกทักษะการบริการระดับพรีเมี่ยมจากนักบริการมืออาชีพ จากWhite Glove Academy& FINN โดยบริษัท เวิล์ด รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด ทำให้น้องๆนักศึกษาและพนักงานตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมได้พัฒนาความรู้และสร้างประสบการณ์ในการทำงานจริงกับเชฟระดับมิชลินสตาร์ สร้างความภาคภูมิใจให้กับน้องๆนักศึกษาเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ทางสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่จะออกเกียรติบัตรให้ทุกคนที่เข้าร่วมรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ด้วย 








สนับสนุนโดย 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

สถาบันอาหาร

ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารปากช่อง 

บริษัท เวิลด์ รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด 

ทีมสามประสานปากช่องบริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด

 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 

จัดโดย สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ 

#เขาใหญ่ม่วนซื่น

#khaoyaichefstable

#khaoyaidinnerbymichelinchef

#khaoyaidiningexperience

#worldrewardsolutions

#whitegloveacademy

#สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่

FB:สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่

สกสว. เดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย พร้อมขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

“ รัฐสภาลงมติรับหลักการ ร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้าน สกสว. พร้อมเดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย ขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ”

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง)  มีการประชุมวาระสำคัญในการพิจารณาด่วน โดยคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….  ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอไปแล้วนั้น ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายและลงมติรับร่าง จำนวน 525  เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง สรุปที่ประชุมรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผลักดันร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง


สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ 

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2. กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม

3. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยนโยบายและหน่วยงานให้ทุนเพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล และนำกลับมากำหนดนโยบายและการให้ทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต 

4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

5. กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี

6. กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใด ๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน ทั้งนี้กฎหมายฉบับบนี้มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม จากก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว 

นอกจากภารกิจในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับบนี้แล้ว สกสว. ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งการผลักดันมาตรการอื่นๆที่สำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ กช. รับมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวส่งต่อโรงเรียนเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกฯ

เมื่อวัรที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในการรับมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัว ณ ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช. โดยมี นายประสิทธิ์ ทองทิตย์เจริญ ประธานศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีน นางรัตติยา ธานี ผอ.กลุ่มงานนโยบายพิเศษ ผู้แทนโรงเรียนเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัว เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

ดร.อรรถพล กล่าวว่า ศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีนและบริษัทสื่อการสอนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวได้จัดทำโครงการมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบสื่อการสอนภาษาจีนให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 20 โรง ซึ่งสื่อการสอนภาษาจีนประกอบด้วยหนังสือเรียนชุด “ภาษาจีนง่าย (Easy Chinese)” และสื่อการสอนชุด “สุขสันต์เทศกาลจีน (Happy Chinese Festival)” เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการสอนภาษาจีนของโรงเรียนเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีระบบการวัดระดับความรู้ที่ชัดเจน และกระตุ้นความกระตือรือร้นของนักเรียนในการเรียนภาษาจีน ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้ประชาสัมพันธ์โครงการมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวให้โรงเรียนเอกชนในกำกับทราบ และได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งบัดนี้การพิจารณาได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงเรียนอรรถวิทย์ โรงเรียนมันตานุสรณ์ โรงเรียนจุ๋งฮัวโซะเซียว โรงเรียนเมตตาวิทยา โรงเรียนเสรีศึกษา โรงเรียนหัวเฉียว โรงเรียนเก้งเต๊ก โรงเรียนวานิชวิทยา โรงเรียนอนุบาลภูบดินทร์ โรงเรียนมารีวิทยา โรงเรียนพงศ์สิริวิทยา โรงเรียนเลาหจิตรวิทยา โรงเรียนโกวิทธำรงเชียงใหม่ โรงเรียนขจรเกียรติพัฒนา โรงเรียนดรุณาราชบุรี โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนมูลนิธิภูมิตะวันวิทยา โรงเรียนเหลียนหัว โรงเรียนอนุบาลปราณี โรงเรียนพัฒนเวชศึกษา ซึ่งทั้ง 20 โรงเรียนได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฯ เพื่อนำสื่อการเรียนการสอนกลับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป

ต้องขอขอบคุณศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีนและบริษัทสื่อการสอนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวได้จัดทำโครงการดีๆ แบบนี้ เพื่อนำมาแบ่งปันให้เด็กไทยได้เรียนรู้ คาดว่าจะเห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการของห้องเรียนภาษาจีนในโรงเรียนเอกชนในอนาคต และให้เป็นห้องเรียนภาษาจีนที่มีการใช้สื่อการเรียนการสอนนี้อย่างจริงจัง และเป็นต้นแบบของห้องเรียนภาษาจีนอีกด้วย ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย










วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ  ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหาร จัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มอบหมายให้ นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อ านวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ บจธ. เป็นประธานจัดแถลงข่าว  ความคืบหน้าของ ร่างพระราชบัญญัติบริหาร จัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. ....  ณ ห้องกมลทิพย์ 1  โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ   

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ บจธ. ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวย บจธ. กล่าวว่า เนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... แบ่ง ภารกิจการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ   


1) การบริหารจัดการและการกระจายการถือครองที่ดิน จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นหลาย จังหวัดพบว่า มีกลุ่มชุมชนหลายกลุ่มที่พบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดินเพื่อนำมาประกอบอาชีพและอยู่อาศัย บ้างต้องเช่าที่ดินทำกิน ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากที่ดินในระบบตลาดมีราคาสูง และเข้าถึงยาก สถาบันฯ จะเข้าไปเป็นสื่อกลางในการร่วมกันจัดหาที่ดินและเจรจาร่วมกับกลุ่มชุมชนให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน ชุมชน และองค์กรชุมชน ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกิน ได้มีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบแปลงรวม มีกรรมสิทธิ์ร่วม โดยมีอำนาจในการจัดสรรที่ดิน เพื่อนำมาให้เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาว เสียค่าธรรมเนียมต่ำ สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึง สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย ซึ่งในปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ตาม โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ไปแล้ว 16 กลุ่ม ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก  จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัด นครราชสีมา เกษตรกรจำนวน 982 ครัวเรือน จำนวนที่ดินประมาณ 2,000 ไร่  



2) การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ด้วยการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินอัน เนื่องมาจากการจำนอง ขายฝาก และการบังคับคดี ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว  เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและ ที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมของตนเอง โดย บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 388 ราย สามารถป้องกัน และคงสิทธิในที่ดินได้ประมาณ 2,700 ไร่  



3) การสนับสนุนอาชีพให้เกษตรกร  ในพื้นที่ดำเนินการของสถาบันฯ ที่ได้จัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรไป แล้ว  สถาบันฯ จะสนับสนุน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ เกษตรทฤษฎีใหม่ และสนับสนุนต่อเนื่องแบบครบวงจร โดยการอบรมให้ความรู้ การเรียนรู้ศึกษาดูงาน เพื่อให้ เกษตรกรได้เกิดทักษะในการทำเกษตรกรรม สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สถาบันฯ จะสนับสนุน การจัดทำแผนการผลิต และด้านการจัดหาตลาด ฯ และบูรณาการร่วมกับภาคีต่างๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณมา สนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล เข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากมากขึ้น 


สำหรับที่ดินที่ใช้ดำเนินงานตามร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ จะใช้ที่ดินที่จัดหาจากทั้ง ภาคเอกชนและภาครัฐตามที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมอบหมายให้ตามนโยบายการบริหาร จัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบัน บจธ. ได้ลงนาม ความตกลงกับกรมธนารักษ์ เพื่อขยายความร่วมมือในการนำที่ราชพัสดุ มาให้ บจธ. บริหารจัดการต่อให้เพื่อ เกษตรกร ผู้ยากจน และผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ทำการเกษตรในราคาที่ไม่แพง  เป็นการ เปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุได้ง่ายขึ้น  เช่นเดียวกับการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน จึงเกิดความตกลงร่วมมือระหว่าง บจธ. และ สำนักงานประกันสังคม  กระทรวงแรงงาน ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ต้องออก จากงานในช่วงโควิด-19 และกลับภูมิลำเนาเดิมโดยไม่มีอาชีพรองรับ ซึ่งมีความประสงค์จะประกอบอาชีพ เกษตรกรรมแต่ไม่มีที่ดินทำกิน รวมทั้งมีที่ดินแต่ขาดเงินทุนประกอบอาชีพ โดย บจธ. จะเป็นฐานรองรับให้กับ แรงงานเหล่านี้  ถือเป็นการปรับเปลี่ยนภารกิจของ บจธ. ตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

สาระสำคัญที่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ  ยังมีเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนบริหาร จัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” เพื่อดำเนินงานด้านต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ นำงบประมาณมาสนับสนุนการบริหารงานช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ยากจน องค์กรชุมชน และ เครือข่ายองค์กรชุมชน ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  โดยเงินทุนตั้งต้นของสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ  ส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดิน  นอกจากนี้ จะได้มาจากเงินหรือ ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ รวมไปถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดสรรเป็นของกองทุน ตามข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน  

ทั้งนี้ หัวใจของร่างพ.ร.บ.ฯ คือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น โดยการกำหนดให้มี กรรมการตัวแทนภาคประชาชน จํานวนเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก เครือข่ายภาคประชาชนด้านที่ อยู่อาศัย ด้านการเกษตร ด้านแรงงาน ด้านสวัสดิการสังคม ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านกฎหมายสิทธิชุมชน และ ด้านส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชน เข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารงานของสถาบันฯ ให้สามารถ ตอบโจทย์ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของภาคประชาชนมากขึ้น โดยผู้แทนภาคประชาชนกึ่งหนึ่งที่จะต้องมาจากเครือข่ายภาคประชาชนด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเกษตร ด้านแรงงาน ด้านสวัสดิการสังคม ด้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ด้านกฎหมายสิทธิชุมชน  และด้านส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชน 

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้เข้าร่วมโครงการภาคประชาชน ได้เสนออำนาจให้สถาบันฯ สามารถให้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน ได้ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของที่ดินหรือสิทธิในการถือครองที่ดินที่ได้จากสถาบันอาจถูกเพิกถอนสิทธิ หรือถูกจำกัด การใช้ประโยชน์หรือกำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยนมือ หรือกำหนดคุณสมบัติของผู้รับโอนได้ ทั้งนี้ ตามที่ คณะกรรมการประกาศกำหนดอีกด้วย 

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ บจธ. จะสรุป รายละเอียดเพื่อนำเสนอเข้าที่สู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งขาติ (คทช.)  โดยคาดว่าจะ ผ่านความเห็นชอบจาก คทช. เนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐบาล ให้การสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายถือครองที่ดิน ช่วยฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสังคมได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และยังเป็นกฎหมายที่มาจากความต้องการของภาคประชาชน คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564  หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาสภา ผู้แทนราษฎรเป็นลำดับต่อไป




“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...