วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สกสว.ระดมผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาขยะล้นประเทศสู่การจัดการที่ยั่งยืน

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk ในหัวข้อ “ประเด็นท้าทายและความก้าวหน้าในการจัดการขยะของประเทศไทย” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและภาควิชาการร่วมพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและช่องว่างขององค์ความรู้ในการจัดการปัญหาขยะที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศไทย พร้อมทั้งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะที่จะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีขยะเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการขยะที่ยั่งยืนของประเทศไทย ตลอดจนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการทุนวิจัย

โอกาสนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศ ชุมชน และพื้นที่ จากวิกฤตการณ์ด้านขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันแนวทางเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอย่างยั่งยืน โดยประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับทุกภาคส่วน “การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน รวมถึงการออกแบบการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการบริหารทุนวิจัย และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ จึงเป็นความท้าทายใหม่ในการเปลี่ยนภาระเป็นโอกาส สร้างโมเดลใหม่ และยกระดับการแก้ปัญหาเรื้อรังทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำอย่างไรให้เกิดการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เกิดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน”

ขณะที่นักวิชาการระดับประเทศอย่าง รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงนวัตกรรมลดขยะพลาสติกเพื่อพ้นวิกฤต ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าการลดขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงมากเพื่อฝ่าฟันวิกฤติช่วงนี้ โดยเฉพาะ  Home Isolation ไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ ทำให้เชื้อโรคกระจายอยู่ตามบ้านเรือนและชุมชน ซึ่งน่ากลัวมาก แนวทางการลดขยะพลาสติกต้องเริ่มจากการคัดแยกให้ถูกวิธีจึงจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ อย่าทิ้งขยะติดเชื้อลงไปในขวดพลาสติก เราได้พัฒนาถุงแดงซิปล็อคเพื่อทิ้งขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วส่งไปตาม Home Isolation ญาติผู้ป่วย ร้านค้า โรงเรียน และศูนย์ต่าง ๆ เพื่อให้ขยะติดเชื้อลดลงมากที่สุด รวมถึงพัฒนาถังขยะคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่มีคนเข้าไปประมาณ 1.3 ล้านคน/วัน โดยมีระบบเซนเซอร์เปล่อยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 15 นาที 

เช่นเดียวกับ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อและสุขภาวะ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่ระบุว่าตั้งแต่มีโควิด-19 ทำให้เกิดขยะติดเชื้อจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำนวัตกรรมแปรรูปที่เกิดจากเรามาใช้ได้ ทุกอย่างใช้แล้วทิ้ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นปัญหา สิ่งที่เป็นภาระคือ ทุกหอผู้ป่วยจะมีการบริหารจัดการขยะเหมือนหอผู้ป่วยโควิดหรือไม่ ในประเทศไทยตนยังไม่เห็นนวัตกรรมนำขยะติดเชื้อกลับมาใช้ซ้ำ หรือการพัฒนาหน้ากากอนามัยโดยใช้ใยกัญชงกรองเชื้อโรค เส้นใยจากพืชต่าง ๆ ยังไม่ต่อยอดสู่พาณิชย์ จึงอยากเชิญชวนให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของขยะชีวภาพ ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจให้คนแยกขยะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอินทรีย์ เพื่อให้เกิดกระบวนการแยกขยะที่รีไซเคิลได้ ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างรายได้จากขยะ เลือกเอนไซม์ที่เหมาะสมที่สุดโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและขยะอาหารมาเป็นสารตั้งต้นในการทำสารเคมีที่ต้องการแทนสารจากปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีงานที่ทำจริงกับชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน โดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถังหมักประสิทธิภาพสูงเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ในระดับชุมชนจนได้แก๊สหุงต้มและสารบำรุงพืช รวมถึงจัดตั้งสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้การสนับสนุนจาก สกสว. ดังนั้นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงจึงเป็นงานวิจัยที่สร้างมูลค่า ถ้ามีคนเชี่อว่าเราจัดการได้ก็จะเป็นระบบที่เกิดขึ้นง่ายและไม่มีของเหลือทิ้งในธรรมชาติ ลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมี ปลอดภัยต่อภาคการเกษตรและผู้ใช้งาน

ด้านคุณประวิทย์ ประกฤตศรี รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นการบูรณาการของภาคเอกชนในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะนั้นสภาหอการค้าฯ มองเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน มีโจทย์เรื่องขยะที่เป็นปัญหาระดับโลก ยิ่งมีโควิด-19 ยิ่งใช้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวิกฤตนี้จะเป็นโอกาสของโมเดลธุรกิจหากเราสามารถแยกขยะได้ ส่วนการใช้งานวิจัยตอบปัญหายังติดขัดปัญหาด้านกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ และในอนาคตยังมีวัสดุอีกหลายตัวที่จะเพิ่มมูลค่าน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติกและ PLA หรือ Polylactic Acid พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ นำสิ่งที่เหลืออยู่ในภาคการเกษตรมาตอบเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้านบรรจุภัณฑ์อาหารจากเส้นใยธรรมชาติ ย่อยสลายด้วยวิธีธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะมีต้นทุนสูงขึ้นจึงต้องมีระบบมารองรับ กระบวนการวิจัยและพัฒนาจะทำอย่างไรให้เกิดการรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร 


สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นักวิจัยมองว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการนำนวัตกรรมไปใช้จริง ดังนั้นต้องแก้เหวมรณะด้วยการทำให้เกิดโครงการแรกให้ได้เพื่อให้มีโครงการต่อไป นอกจากนี้ยังต้องทบทวนนโยบายขยะติดเชื้อให้ทันสมัย เปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารโรงพยาบาลในการรายงานขยะทุกประเภททุกมิติ และปรับการบริหารจัดการขยะให้เหมาะกับบริบท ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าจากขยะให้กับชุมชนที่มีศักยภาพ นักวิจัยต้องปรับตัวในการทำงานร่วมกับเอกชนและชุมชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ตัวจริง เชื่อมโยงการทำงานของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา สร้างแรงจูงใจและหาแนวทางจัดการขยะให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยอาจต้องทำแซนด์บอกซ์หมู่บ้านที่ออกแบบใหม่ให้มีการจัดการขยะเพื่อให้เมืองน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...