กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้ประชาชนกว่า 29,800 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดหนองคายและอุดรธานี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มีแผนดำเนินโครงการ 9 ปี (ปี2561 – 2569) ประกอบไปด้วย งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อัตราการสูบน้ำรวม 150 ลบ.ม./วินาที มีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณ 46% งานปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิม ความยาว 18.6 กิโลเมตร และงานปรับปรุงประตูระบายน้ำ(ปตร.)ตามลำน้ำสาขา 3 แห่ง คือ ปตร.ปากโพง ปตร.หนองผักไหมล่าง และปตร.หนองบุ้งแย้ ดำเนินงานเสร็จแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้าง ปตร.ในลำน้ำสาขาอีก 8 แห่ง ได้แก่ ปตร.ในลำน้ำสาขาฝั่งซ้าย ปตร.ในลำน้ำสาขาฝั่งขวา งานก่อสร้าง ปตร.ในลำน้ำห้วยหลวง 3 แห่ง (ปตร.ดงสะพัง ปตร.หนองสองห้องพร้อมสถานีสูบน้ำ และปตร.ดอนกลอยพร้อมสถานีสูบน้ำ) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567
ในส่วนของแก้มลิงในลำน้ำสาขา 20 แห่ง อยู่ระหว่างการออกแบบ ส่วนงานระบบชลประทาน 13 โครงข่าย และอีก 42 สถานีสูบน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ รวมไปถึงงานระบบควบคุมอุกทกภัยแบบอัจฉริยะ อยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ในเขต จ.หนองคาย และจ.อุดรธานี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น