วันที่ 25 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม (สกสว.) จัดการประชุมเสวนาผ่านระบบออนไลน์ในเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของ ววน. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025”ภายใต้ “โครงการการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขายานยนต์สมัยใหม่” โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับแนวหน้าของประเทศ ประกอบด้วย คุณชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), ดร.วิกรม อาฮูยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด, ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) , ดร.เอกรัตน์ ไวย์นิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.นุวงศ์ ชลคุป ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เกิดการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีพันธกิจสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย
1) จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และริเริ่มแผนงานที่สำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บท นโยบายภาครัฐ
2) จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.
3) ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.
4) ส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
และ 5) ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ ของหน่วยงาน และการติดตามประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
โดยปัจจุบัน สกสว. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนด้าน ววน. ปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมีหนึ่งในจุดมุ่งเน้นคือประเด็นเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นแผนด้าน ววน. จึงมีจุดมุ่งเน้นสำคัญตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์ทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนภายในปี พ.ศ.2570 เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญรวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ
ด้านยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว โดย สกสว. ได้ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสามารถสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า และร่วมกับภาคเอกชนโดยตรง นอกจากนี้ สกสว. ยังได้จัดตั้งหน่วยบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (SAT: Strategic Agenda Team) ในด้านยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อร่วมศึกษาข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระบบ ววน. ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทางด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) เปิดเผยว่า ภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนการพัฒนาแบตเตอร์รี่ที่ทั่วโลกมีแนวโน้มความต้องการในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแบตเตอร์รี่ ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้าน ววน. อย่างตรงจุด เพื่อจะช่วยเสริมศักยภาพของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการเสวนาในครั้งนี้วิทยากรจากภาคเอกชนได้นำเสนอถึงความคืบหน้าการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งรถยนต์นั่ง รถบัส รถมอเตอไซค์ และเรือไฟฟ้า โดยภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการทำงานวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยวิทยากรต่างมีความเห็นตรงกันว่า การตั้งเป้าขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025 ถือเป็นโจทย์ที่ท้ายในการพัฒนาประเทศ โดยการจะขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนด้าน ววน. จะเป็นการหนุนเสริมสำคัญที่จะพาประเทศสู่เป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น