“ วช.นำวิจัยพัฒนา ตอบโจทย์ แก้วิกฤตประเทศ บทบาทสำคัญของ วช. จะดูแลทั้งการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรการวิจัย นวัตกรรม รวมถึงการให้การสนับสนุนโจทย์ที่ท้าทายทางสังคม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพ และการมุ่งสู่การตอบโจทย์ประเด็นหลักที่นำไปสู่ทิศทางของประเทศ”
ความรู้ ความสามารถทางด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และสามารถแข่งขันกับนานาชาติ รวมถึงการยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชน รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและดำเนินการโดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เผยกับสกู๊ปพิเศษ ถึงทิศทางและบทบาทของ วช.ในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรม และการดำเนินงานขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและพัฒนา ว่า
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
ทิศทางและบทบาท วช.ในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร การวิจัยพัฒนานวัตกรรม
ในบทบาทหน้าที่สำคัญของ วช. ก็จะดูแลในส่วนของทั้งการส่งเสริมและการพัฒนาบุคลากร การวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการให้การสนับสนุนโจทย์ที่ท้าทายทางสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพ และการมุ่งที่ประเด็นหลักที่นำสู่เรื่องทิศทางของประเทศ ซึ่งก็ครอบคลุมทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ งานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ท้าทายสำคัญ ๆ เช่น ในเรื่ิองของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ยังมองไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมิติทางด้านสังคม เช่น ในเรื่องของสังคมผู้สูงวัย รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม การพัฒนาในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งประเด็นเหล่านีิ้ วช. ได้รับมอบหมายตามทิศทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงภาพใหญ่ของประเทศในทิศทางของยุทธศาสตร์ ววน. หรือวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ ก็ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในการผลักดันให้เกิดการใช้งานในการนำตัวผลิตภัณฑ์ ตัวเทคโนโลยี ตัวกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาไปทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง
การขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 วช.ได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์ในสองส่วนสำคัญส่วนหนึ่งทาง วช.เองก็จะเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และวิจัยพัฒนา ภายใต้ ศปก.ศบค. ของรัฐบาล ซึ่งก็จะได้มีการนำโจทย์จากตัวประเด็นความสำคัญของประเทศมาดำเนินการผลักดันเพื่อให้เกิดผลงานวิจัย เกิดนวัตกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยแแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างที่มีการแพร่ระบาดในรอบแรกประเทศไทยเรายังมีความต้องการในเรื่องของเวชภัณฑ์ และพวกอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก
ในมิติของการวิจัยและนวัตกรรมได้มีการส่งเสริมให้กับนักวิจัยและนักวิชาการได้ช่วยกันพัฒนาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ อย่างเช่น ในเรื่องของหน้ากาก N-95 การมีชุดป้องกัน ชุด PPE เพื่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อที่จะใช้สำหรับปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือชุดคลุมศีรษะ PAPR ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด ในเรื่องของเตียงความดันลบ ห้องไอซียูความดันลบ ต่อมาในส่วนของการดำเนินงานจะเห็นว่าในชุดของข้อมูลความเข้าใจในเรื่องของการแพร่ระบาดมีความสำคัญ ซึ่ง วช. ก็ให้การสนับสนุนในส่วนของการดำเนินการโครงการวิจัยดังกล่าวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่มีการแพร่ระบาด เรื่องของวัคซีน วช. ก็ให้การสนับสนุนแก่สถาบันวัคซีนผ่านไปถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ได้มีการดำเนินการเรื่องวิจัยวัคซีน เพื่อสนับสนุนการทำงานตรงนี้ ก็จะเห็นภาพการมีส่วนร่วมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการส่งเสริมพัฒนาวัคซีนของไทยเอง ทั้งในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายหน่วยงาน
หลังจากที่มีการคลี่คลายการแพร่ระบาดในระลอกแรก เรื่องของการเยียวยาเรื่องของการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม วช. ก็ได้มีการสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ในเรื่องของการจ้างงาน เรื่องของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ไปช่วยให้เกิดการลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในส่วนภูมิภาค จนถึงการระบาดในระลอกใหม่ วช.ให้การสนับสนุนการขนส่งวัคซีนที่เข้ามาใหม่ที่ช่วยรักษาคุณภาพของวัคซีน รวมทั้งให้การสนับสนุนในเรื่องของการติดตามประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเป็นชุดข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ในการบริหารสถานการณ์ทั้งในมิติทางวิชาการและเรื่องของการบริหารในระดับนโยบายอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น