สกสว. ร่วมกับ สวค. จัดการประชุม TSRI Seminar Series on International Research Collaboration Policy ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Evaluation and Monitoring : Lessons from Researchfish” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร นำเสนอบทเรียนการใช้ “Researchfish” แพลตฟอร์มซึ่งหน่วยงานให้ทุนและมหาวิทยาลัยใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางการในพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการลงทุนในระบบวิจัยไทย
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดการประชุม TSRI Seminar Series on International Research Collaboration Policy ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Evaluation and Monitoring : Lessons from Researchfish” โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Sean Newell, CEO Interfolio UK, Mr. Gavin Reddick, Chief Data Analyst และ Ms. Katy Elliott, Account Executive (Researchfish) ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ UK Research and Innovation (UKRI) ที่มีการใช้แพลตฟอร์ม “Researchfish” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่หน่วยงานให้ทุนวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยงานบริหารจัดการทุน อาจารย์และนักวิจัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม รวมทั้งสิ้นกว่า 150 คน
รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า นับแต่ตั้งมีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สกสว. ได้ขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบการบูรณาการทุกภาคส่วน อีกทั้งยังมีการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศที่สามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรบุคคล บนฐานความรู้ด้าน ววน. โดย สกสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้าน ววน. ระหว่างไทยกับต่างประเทศ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ ววน. ให้สามารถส่งมอบคุณค่า
สูงสุดแก่ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น สามารถเลือกรับ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (Technology transfer) ที่เหมาะสมต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในเปิดโอกาสให้ประชาคมวิจัยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนด้าน ววน. ซึ่งสามารถนำบทเรียนจาก Researchfish มาประยุกต์ใช้กับระบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมในบริบทของประเทศ โดยเฉพาะการสร้าง consortium ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. และ สวค.
ทางด้าน Mr. Sean Newell, CEO Interfolio UK, กล่าวว่า Researchfish เป็นระบบการติดตามประเมินผลโครงการวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากในสหราชอาณาจักร ที่สภาการวิจัยด้านการแพทย์ (Medical Research Council, MRC) ต้องการทราบผลลัพธ์จากการลงทุนในโครงการวิจัย จึงเกิดการคิดริเริ่มในการสร้างระบบการติดตามและประเมินผล เช่นเดียวกับบริบทของการให้ทุนวิจัยทั่วโลก ซึ่งสังคมมักจะตั้งคำถามว่า “การลงทุนให้การวิจัยจะเกิดประโยชน์อย่างไร โลกเราดีขึ้นมั้ย สังคมดีขึ้นอย่างไร?” ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าสาธารณชนต้องการทราบผลกระทบจากโครงการวิจัย ดังนั้น Researchfish จึงพัฒนาระบบเพื่อติดตามผลลัพธ์ ผลกระทบจากงานวิจัย โดยสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้ทุนกับนักวิจัย ซึ่งนักวิจัยสามารถเข้ามารายงานผลการวิจัยได้ง่าย ในขณะเดียวกันผู้ให้ทุนก็สามารถเห็นภาพการรายงานผลได้ชัดเจน และสามารถดึงข้อมูลไปใช้ในการรายงานผลลัพธ์ ผลกระทบจากโครงการวิจัยได้อย่างชัดเจน โดยอาศัยข้อมูลจากนักวิจัยโดยตรง รวมทั้งการเชื่อมต่อข้อมูลกับฐานข้อมูลงานวิจัยอื่นๆ ส่งผลให้นักวิจัยมองเห็นเส้นทางในสายอาชีพที่ชัดเจน และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน UKRI (UK Research and Innovation) และอีกหลายประเทศทั่วโลกได้ใช้ Researchfish ในการติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยตลอดจนสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ให้ทุนและนักวิจัย เพื่อติดตามประเมินผล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างผลกระทบจากโครงการวิจัยมากยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น