วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัยห่วงสารก่อมะเร็งฟุ้งหลังโรงงานระเบิดที่กิ่งแก้ว

นักวิจัยห่วงสารก่อมะเร็งฟุ้งหลังโรงงานระเบิดที่กิ่งแก้ว

ชี้ต้องมีแผนกู้คืน-มาตรการจริงจังป้องกันสารเคมีไวไฟ

นักวิจัยห่วงสารก่อมะเร็งฟุ้งหลังโรงงานระเบิดรุนแรงที่กิ่งแก้ว ชี้หน้ากากป้องกันโควิดก็เอาไม่อยู่ ระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการป้องกันสารเคมีไวไฟที่เป็นอันตรายจำนวนมาก รวมทั้งแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว

รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษา และวิเคราะห์เชิงระบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีผลต่อการหนุนเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการระเบิดรุนแรงภายในบริษัท หมิงตี้เคมิคอล จำกัด ย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นของประเทศจีนที่เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยนานกว่า 30 ปี เมื่อกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วขยายวงกว้าง ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยในรัศมี  5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสารเคมี ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจมากและจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันสารเคมีอันตรายและมาตรการฉุกเฉินในระยะยาว


ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ตามข้อมูลพื้นฐานสามารถสรุปสถานการณ์เพื่อป้องกันเบื้องต้นได้ว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานผลิตโฟมพลาสติกประเภทสไตรีน โดยสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต คือ สไตรีนมอนอเมอร์ มอนอเมอร์เป็นชื่อเรียกของสารตั้งต้นโมเลกุลเล็กที่นำมาใช้สังเคราะห์ต่อเนื่องให้เป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้นจนได้เป็นพอลิเมอร์หรือพลาสติก สารสไตรีนมีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนประเภทวงแหวน 6 เหลี่ยม จัดเป็นสารก่อมะเร็งและสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งตามข้อกำหนดแล้วต้องมีเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศได้ไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่าเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงไม่เกิน 7.6 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร


เมื่อเกิดระเบิดแล้วมีการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านี้จึงเกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากควันไฟสีดำและสีเทา โดยการเผาไหม้ของไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอออกไซด์ ซึ่งปนกับสารที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อสูดดมเข้าไปจะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ และหากสูดดมสไตรีนกับเบนซีน จะเกิดการระคายเคืองระบบหายใจ และก่อมะเร็ง


สิ่งกังวลผลกระทบระยะสั้นที่เห็นชัดเจน คือ การสูดดมเป็นปัญหา หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์แต่จะปกคลุมอยู่นานแค่ไหนก็ต้องอาศัยโชคช่วยในเรื่องของลม ความชื้น และฝน หากฝนตกก็จะช่วยให้ลดในส่วนของควันก๊าซ แต่ก็จะส่งผลต่อในระยะยาว กล่าวคือ หากสัมผัสกับความชื้นในอากาศ หรือมีฝนตก ก๊าซที่ลอยอยู่ในอากาศและสารตกค้างเหล่านี้จะตกลงสู่พื้นดินกระจายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เกิดการปนเปื้อนทั้งต้นไม้ แหล่งน้ำผิวดิน และไหลซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนการบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงต้องมีแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว

จากเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) หน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น จะต้องกลับมาตั้งวงคุยกันถึงมาตรการการป้องกันโดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเก็บสารเคมีไวไฟและเป็นอันตรายไว้จำนวนมาก ทั้งมาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บ มาตรการฉุกเฉินที่ไม่เฉพาะภายในโรงงานแต่ต้องคลอบคลุมถึงชุมชนโดยรอบอย่างเคร่งครัดและจริงจัง การซ้อมแผนอพยพชุมชน และอื่น ๆ อีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น