วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

ปศุสัตว์ยังเดินหน้าตรวจห้องเย็นรอบใหม่ต่อเนื่อง หวั่นกักตุนสินค้าปศุสัตว์สร้างปัญหากระทบค่อผู้บริโภค


นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยล่าสุดได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 


โดยล่าสุดรายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 16 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี มุกดาหาร ขอนแก่น นครปฐม กาญจนบุรี สงขลา ระยอง เชียงใหม่ ตรวจพบซากสุกรจำนวน 259,994.40 กิโลกรัม รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 16,627,851.27 กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 402 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)


สำหรับรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 10 มีนาคม ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเล็กน้อย แม้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์และค่าพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตา ปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานะการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา ทั้ง ๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล (เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB 32.9983/USD) ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 84) สรุปแนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง


หากประชาชนพบความผิดปกติต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น