วันนี้ (6 กันยายน 2564) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมประชุมหารือกับตัวแทนนักวิจัยด้านระบบดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ และผู้แทนจากภาคเอกชน โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและพัฒนาประเทศยุคโควิด ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล - ปัญญาประดิษฐ์” จากการสนับสนุนทุนวิจัยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(IoT: Internet of Things) และวิทยาการหุ่นยนต์(Robotic) เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0
โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับทัศนคติและมุมมองในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีในรอบใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลก โดยปัจจุบันได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรงบประมาณการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเทคโนโลยีของประเทศ ผ่านกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นทาง โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนและนักวิจัย ตั้งเป้าหมายพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยสามารถแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนโดยเลือกจากบางประเด็นและสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยทางกระทรวง อว. สามารถสร้าง Sandbox ที่ปลดล็อกระเบียบโดยการทำงานวิจัยนั้นจะต้องตั้งเป้าขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย ซึ่งการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะต้องพัฒนาทั้งด้านกำลังคนและอุตสาหกรรม เพื่อลดช่องว่างการแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่ประเทศมีศักยภาพ ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในภายในปี พ.ศ. 2580
โดยการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย
1) การต่อยอดงานวิจัยดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการรับมือโควิด-19
1.1) “WeSafe – สู้โควิด-19” สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยในการทำ Factory Isolation (FI) บนพื้นฐานของแพลตฟอร์ม กิน อยู่ ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย โดยที่ระบบ WeSafe ได้ถูกใช้งานโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำความร่วมมือกับ กรมการแพทย์เพื่อใช้เป็นระบบในการดูแลบุคลากรของโรงงาน
1.2) AI Federated Learning ทางการแพทย์ สนับสนุนงานทางการแพทย์ด้านการช่วยวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสี (Radiology) ทำให้ลดระยะเวลา ลดภาระบุคลากรทางการแทพย์เฉพาะทาง และเพิ่มความแม่นยำของข้อมูลสนับสนุนช่วยบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยโรค ในโครงการนี้เป็นการเร่งสร้างอัลกอริทึมการเรียนรู้ในรูปแบบ“Federated AI” เพื่อให้ไปใช้เรียนรู้ชุดข้อมูลภาพถ่ายรังสีจากคลังข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาล โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายข้อมูลออกจากที่เก็บเดิม
2) ยกระดับความสามารถการแข่งขัน ของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย
2.1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI สำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของไทย รวมถึงสนับสนุน
กลุ่ม Startups
2.2) การพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเรียนรู้เชิงลึกสัญชาติไทย (CiRA Core) เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย
2.3) การพัฒนา AI ภาษาไทย ภาษาถิ่น เชื่อมต่อแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ (E-commerce) ให้กับประชาชนในแต่ละภูมิภาค
และ 3) ยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G และ AI (Co-creation)
3.1) การต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม 5G – AI ในยานยนต์ไร้คนขับ ในภาคธุรกิจใหม่ของการรองรับการสื่อสารแบบ Vehicle to Vehicle (V2V) Vehicle to Infrastructure (V2I) และ Vehicle to Everything (V2X) และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ในการพัฒนาการสื่อสาร low latency ตอบสนองอย่างไร้รอยต่อในการควบคุมเครื่องจักรในภาคการผลิตของไทย ในยุค 5G และ AI
3.2) การต่อยอดนวัตกรรม 5G-AI สนับสนุนระบบคัดกรองและติดตามนักท่องเที่ยวในโครงการ Phuket Sandbox (7+7) ผสมผสานเทคโนโลยี AI การตรวจจับใบหน้า พฤติกรรม รวมถึงระบบการสื่อสารความเร็วสูง 5G ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และเพิ่มประสิทธิภาพให้การดำเนินการ Phuket Sandbox เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เร่งฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมขยายผลสู่เมืองท่องเที่ยวอื่น
อย่างไรก็ตาม รมว.อว. ยืนยันถึงความพร้อมของภาคนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น