วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สกสว. เปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ถอดประสบการณ์พัฒนาระบบพี่เลี้ยงนักวิจัยไทย

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)  

เปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ภายในงาน Brainpower Symposium “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยและนักวิจัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมโดยหนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาระบบการสนับสนุนนักวิจัยผ่านระบบ Multi Mentoring System (MMS) 

โดยระบบได้มีการพัฒนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง” (Mentor) ขึ้นในมหาวิทยาลัย และมี “หัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง” (Head Coach) ที่เป็นนักวิจัยผู้ประสบความสำเร็จสูง ที่ร่วมสร้างคุณประโยชน์ไม่เฉพาะแก่นักวิจัยรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างผลดีต่อสถาบันและชุมชนให้เห็นคุณค่าของการวิจัย รวมทั้งช่วยยกระดับความเข้มแข็งด้านการวิจัยของสถาบันวิจัย 

นอกจากนี้กลไกของ MMS ไม่ได้มีเฉพาะนักวิจัยพี่เลี้ยง และหัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงเท่านั้น   ยังมีกลไกระดับสถาบัน ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายร่วมมือกัน ในการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย  และยกระดับคุณภาพ ปริมาณผลงานวิจัย ผ่านปฏิสัมพันธ์แบบเครือข่าย ที่มีความร่วมมือและช่วยเหลือกัน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับผู้บริหารหน่วยงานรวมถึงนักวิจัยสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาระบบงานวิจัยไทยซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า นักวิจัยถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนากำลังคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ววน. ของประเทศ โดยในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย 

โดยมีการแบ่งเส้นทางเริ่มจากอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง เข้าสู่การเป็นเมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นคือ การที่ประเทศมีนักวิจัยอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนา นอกจากนี้ในเชิงคุณภาพจะทำให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งหลังจากการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศ สกว. ได้เปลี่ยนบทบาทเป็น สกสว. จัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ทำให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลัง ซึ่งการพัฒนานักวิจัยในรูปแบบ MMS ก่อให้เกิดการทำงานบนฐานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคนโยบาย มหาวิทยาลัยและนักวิจัยรุ่นต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสิทธิภาพ

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.โสพิศ วงศ์คำ เมธีวิจัยอาวุโส กล่าวว่า ระบบ MMS เป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้กับประเทศ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง กลับเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานด้านการวิจัยต่อไป MMS เป็นกลไกการเชื่อมต่อเชิงซ้อนซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกันจนกระทั่งสามารถเป็นระบบการพัฒนานักวิจัยระดับประเทศ นอกจากนักวิจัยจะมีพี่เลี้ยง (Mentor) ในรายบุคคลแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัย และโค้ช (Coach) ในแต่ละภูมิภาค รวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นระบบแม่ข่าย โดยแบ่ง MMS ออกเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1-4 ภาคกลาง กลุ่มที่ 5 ภาคเหนือ กลุ่มที่ 6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มที่ 7 ภาคใต้ กลุ่มที่ 8 มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกลุ่มที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล ซึ่ง MMS แต่ละกลุ่มสามารถออกแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังคงมีเป้าหมายร่วมกันคือการทำให้นักวิจัยสามารถมีเส้นทางอาชีพและตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับประเทศ โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของงานวิจัยจากนักวิจัยรุ่นใหม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านตัวนักวิจัย 2) ปัจจัยด้านการบริหาร 3) ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้รวบรวมในหนังสือหนังเล่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” เป็นการถอดประสบการณ์และองค์ความรู้จากการพัฒนาระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง MMS ซึ่งสามารถส่งต่อองค์ความรู้และภาระสำคัญที่เป็นแนวหน้าในการพัฒนากำลังคนวิจัย หน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย และ สป.อว. รวมถึงหน่วยงานในระดับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) โดย สกสว. มุ่งมั่นการสนับสนุนหน่วยงานแนวหน้าในทุกมิติ เพื่อให้สามารถสร้างบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด หนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ www.tsri.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...