วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพิธีบันทึกลงนามความร่วมมือ กับ บริษัท ช้างทอง แลนด์สเคป จำกัด เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญ รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สู่ปีที่ 100 (จาก 2477 - 2577) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายบุญรักษ์ ธนเจริญโรจน์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 54 ประธานกรรมการบริษัท ช้างทอง แลนด์สเคป จำกัด เป็นผู้แทนลงนามของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ มี นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อุทยานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 100 ปี : Maejo Centennial Botanical Park เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ บริษัท ช้างทอง แลนด์สเคป จำกัด ได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สู่ปีที่ 100 (จาก 2477 - 2577) โดยภายในพื้นที่อุทยานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 100 ปี ซึ่งครอบคลุมบริเวณสนามวังซ้าย จะมีการรวบรวมพันธุ์ไม้ใหญ่ พันธุ์ไม้หายาก และตกแต่งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สวยงาม เหมาะสำหรับเป็น แหล่งเรียนรู้ และทำกิจกรรมสันทนาการ ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแก่นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนาผังแม่บทของงานภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศ และสามารถเป็นต้นแบบแนวความคิดในงานสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้พืชพรรณและการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาการประยุกต์ใช้พืชพรรณ ในการจัดภูมิทัศน์อีกด้วย
การจัดทําบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่บูรณาการการเรียนการสอนการวิจัย และบริการวิชาการซึ่งตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ ในเรื่องการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัย บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จัดให้มีพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของมหาวิทยาลัย อาทิ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ นักศึกษาและฐานการเรียนรู้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และการเกษตร การบ่มเพาะวิสาหกิจ และผู้ประกอบการ การฝึกอบรมและสร้างเครือข่าย การออกแบบและฝึกอบรม ด้านงานภูมิทัศน์ และพลังงานทดแทนจัดให้มีสถานที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงจัดให้มีสถานที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่มในเชิงธุรกิจเพื่อให้เกิดรายได้ สำหรับใช้ในการดูแลรักษาพื้นที่โครงการ และเพื่อสร้างพื้นที่บูรณาการการเรียนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยฯกับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัย
Maejo Centennial Botanical Park :อุทยานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 100 ปี จึงเป็นการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สู่ปีที่ 100 (จาก 2477-2577) สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ (Organic University) การเป็นผู้นำด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมชั้นนำของประเทศ (Organic Education Hub) และมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) สู่การเป็นต้นแบบแก่สังคมในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น