วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“ครูกัลยา” ชูนโยบาย Coding For All คือ ทางรอดสู้ทุกวิกฤต ผนึกกำลังเดินหน้านโยบาย เร่งกระจายสู่ทุกภาคส่วน

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวผ่านระบบ Zoom 

ร่วมกับดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ สพฐ.ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะทำงานนโยบายและยุทธศาสตร์อาชีวะเกษตรและประมง ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์โค้ดดิ้งแห่งชาติ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษก รมช.ศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ชูนโยบาย Coding For All คือทางรอดสู้ทุกวิกฤต ตอบโจทย์ชีวิตคนไทยยุคดิจิทัล พร้อมเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระจายการเรียนรู้สู่ประชาชนทุกกลุ่ม พัฒนาหลักสูตร Coding สำหรับนักเรียน-นักเรียนพิเศษ-บุคคลทั่วไปในทุกกลุ่มอาชีพ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบาย Coding For All ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จมีความคืบหน้าไปอย่างมาก มีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในหลายภาคส่วนอย่างเป็นระบบแม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตามแต่ก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเร่งกระจายการเรียนรู้ Coding ไม่เฉพาะแต่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด

“นโยบาย Coding เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ดิฉันเร่งผลักดันมาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเชื่อว่า Coding คือ ทางรอดของทุกเรื่อง ทางรอดของทุกวิกฤต หากเรามีความรู้เรื่อง Coding แล้วจะเผชิญหน้ากับกี่วิกฤตเราก็จะผ่านมันไปได้  เราจะสร้างองค์ความรู้และปลูกฝัง Coding ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน โดยใช้ภาคการศึกษานำ และใช้กลไกกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ปัจจุบันคณะทำงานและคณะอนุกรรมการ Coding แห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียน Coding สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งในส่วนของตัวผู้สอนและผู้เรียนซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมครู และบุคลากรการศึกษาไปแล้วมากมาย มีการพัฒนาหลักสูตร Coding ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีการออกแบบการเรียน Unplugged Coding ฉบับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพื่อเป็นคู่มือให้ครูผู้สอนสามรถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม


ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมี Coding กับการศึกษาพิเศษ เพราะการศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ Coding ได้อย่างเท่าเทียม ลดความ เหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการเรียนการสอน Coding สำหรับครูผู้สอน รวมถึงเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ให้มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี


รวมไปถึง Coding สำหรับบุคคลทั่วไป ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจด้าน Coding และกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทำงานเป็นขั้นตอน และแก้ไขปัญหาอย่างมีกระบวนการ ให้แก่ประชาชนทั่วไปในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเกษตรกร โดยนำหลักการเรื่อง Coding มาปรับใช้ในการทำการเกษตร เป็นการปลูกความคิดให้กับเกษตรอย่างเป็นระบบ สร้างเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะ โดยการวางแผนการทำงานและปฏิบัติงาน เกิดเป็น Smart Farm สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้หลายเท่าตัว


“ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาคการเกษตรนับว่ามีความสำคัญยิ่ง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน แต่ภาคเกษตรได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากลับจะมีโอกาสเติบโต เมื่อแรงงานวัยหนุ่มสาวที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้บนสื่อออนไลน์ และมีทักษะด้านดิจิทัล ต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาทำอาชีพเกษตรกรเลี้ยงปากท้อง ซึ่งคนเหล่านี้หากได้รับองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ได้เรียนรู้ Coding กับการเกษตร คิดอย่างเป็นระบบ วางแผน และลงมือทำ จะแก้ปัญหาความยากจน สร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืนให้กับคนไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น