ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย รัชกาลที่ ๔ และร่วมเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏ วิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ณ ต.หว้ากอ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี
และสืบเนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของทุกปี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความสนุกสนาน ประสบการณ์ และการมีส่วนร่วมกับเยาวชน และประชาชน รวมทั้ง เสริมสร้างแรงบันดาลใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ทางด้าน ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในการบรรยาย “เรียงร้อยเรื่องราววันวิทยาศาสตร์ไทย 18 สิงหาคม” โดยเผยว่า จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความสนใจและความตื่นตัวของประชาชนด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว ยังนำมาซึ่งการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก ว่าสยามประเทศมีผู้นำซึ่งมีความรู้และวิทยาการ จึงเป็นกุศโลบายด้านการต่างประเทศที่สำคัญ จึงถือเป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การภูมิใจของคนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีวันสำคัญอย่างวันวิทยาศาสตร์ไทยเกิดขึ้นในเวลาต่อมา
โดยในปี พ.ศ. 2525 ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เสนอเรื่องผ่านทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ในสมัยนั้น ขอให้รัฐบาลเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" โดย ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 นับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจและเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งของวิทยาศาสตร์ไทย หลังจากนั้นจึงมีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในเดือนสิงหาคมเป็นประจำทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา
จากวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สู่ สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเริ่มต้นการจัดสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 – 24 สิงหาคม ในปี พ.ศ. 2527 โดยขยายเวลาการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศพร้อมกัน โดยมีมหาวิทยาลัย โรงเรียน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา หน่วยงานวิจัย กระทรวง ทบวง กรม ภาครัฐ และภาคเอกชน และเข้ามามีบทบาทการจัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ.2550 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ อพวช. เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัด “งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ไปพร้อมกับงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ทั่วประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากขึ้น และมีผลในการพัฒนาประเทศของเรา แม้ว่าการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้จำเป็นต้องเลื่อนไปเนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) แต่ทางกระทรวง อว. ก็ยังหวังว่าจะจัดงานได้ในช่วงปลายปีเพราะมีผู้สนใจติดตามการเข้าร่วมงานทุกปี โดยมีแผนเลื่อนจัดงานดังกล่าว เป็นวันที่ 9-19 พฤศจิกายน 2564 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : NSTFair Thailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2577 9999
สำหรับ “กิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2564” อพวช. ยังคงจัดต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนสิงหาคมนี้ ผ่านช่องทางสื่อสารของ อพวช. ที่ Facebook : NSM Thailand , Website : www.nsm.or.th , YouTube : NSM Thailand และ Facebook พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ของ อพวช. ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามได้ทางช่องทางดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น