กรมชลประทาน ส่งเสริมการใช้ยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการต่อยอดพัฒนา “ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” เพิ่มประสิทธิการบริหารจัดการน้ำ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งทุ่นยางพาราดักผักตบชวา (Para-Log Boom) ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ผักตบชวาเป็นวัชพืชทางน้ำที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาต่อแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบชลประทานด้วย
กรมชลประทาน โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมในการนำยางพารามาผลิตเป็นทุ่นยางพาราดักผักตบชวา (Para-Log Boom) เพื่อใช้ในการควบคุมผักตบชวาและวัชพืชไม่ให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลองลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน
อีกทั้งยังเป็นต้นแบบแนวทางการใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และยังเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในกิจการภาครัฐ โดยลักษณะของทุ่นยางพาราฯ เป็นทุ่นทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร น้ำหนัก 55 กิโลกรัม
มีส่วนผสมของยางพารา 30 กิโลกรัม อายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในปี 2563 ได้เริ่มติดตั้งทุ่นยางพาราฯ ในพื้นที่ 3 โครงการนำร่อง ได้แก่ บริเวณหน้าประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ บริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองผักไห่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ และบริเวณหน้าประตูระบายน้ำคลองจินดา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม ช่วยดักผักตบชวาและวัชพืชไม่ให้ไปขวางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กรมชลประทาน ได้พัฒนาต่อยอดตัวทุ่น จุดเชื่อมต่อทุ่น และการผูกยึดกับตอม่อให้มีความแข็งแรงคงทนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เรือสัญจรผ่านไปมาได้ สามารถนำไปติดตั้งในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ ในปี 2564 นี้ กรมชลประทาน มีเป้าหมายในการจัดทำทุ่นยางพารา ทั้งสิ้น 10,404 ทุ่น ช่วยส่งเสริมการใช้ยางพาราของเกษตรกรได้ประมาณ 312 ตัน ก่อนจะส่งมอบให้กับโครงการชลประทานทั่วประเทศนำไปติดตั้ง โดยปัจจุบันได้ติดตั้งทุ่นยางพาราฯ ไปแล้วกว่า 120 จุดทั่วประเทศ ใช้ทุ่นยางพาราไปแล้ว 7,650 ทุ่น จะช่วยแก้ไขปัญหาวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในระบบชลประทาน ทำให้คุณภาพน้ำและน้ำไหลได้ดียิ่งขึ้น” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น