วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สทน.จับมือกับ กฟผ.และภาคีเครือข่ายด้านฟิวชั่นในประเทศไทย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีฟิวชั่น ในภูมิภาคอาเซียน


วันที่ 2 สิงหาคม 2564 รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion ครั้งที่ 7 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมรวม 72 คน เป็นผู้บรรยายและผู้อบรมจาก 13 ประเทศเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ 


 ในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความต้องการใช้ พลังงานที่มีมากขึ้นทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตพลังงานเพื่อสร้างไฟฟ้าถูกใช้ไปในอัตราที่รวดเร็ว ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยการหาแหล่งพลังงานที่วางใจได้  เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นซึ่งสามารถให้พลังงานในราคาถูกและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยซึ่งสามารถเป็นที่ประชาชนยอมรับได้ง่าย เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นการรับรู้และความเข้าใจทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชั่นยังมีไม่มากนัก


การจัดกิจกรรม ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion ครั้งที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นให้นักศึกษาและนักวิจัย ตลอดจนมุ่งหวังให้เกิดความสนใจในด้านการวิจัยเกี่ยวกับพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชั่นในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นการสร้างกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็งทางพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชั่น ขึ้นในประเทศไทยและในประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและมีบทบาทเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา 

รศ.ดร.ธวัชชัย ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตลอดจนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เป็นเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสม่าและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น โดยมีหน่วยงานชั้นนำของโลกที่มีกิจกรรมในการศึกษาวิจัยด้านนิวเคลียร์พลาสม่า อาทิ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ,  สถาบันวิจัยฟิวชั่นในสนามแม่เหล็ก (Research Institute on Magnetic Fusion หรือ IRFM) ภายใต้ความร่วมมือ The French Alternative Energies and Atomic Energy Commission (CEA) ประเทศฝรั่งเศส International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER) ประเทศฝรั่งเศส, ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ประเทศออสเตรีย, Japan Graduate University for Advanced Studies (SOKENDAI), National Institute for Fusion Science (NIFS) ประเทศญี่ปุ่นและ US Department of Energy ประเทศสหรัฐอเมริกา 

จากประสบการณ์โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงของหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นโอกาสอันที่ดีที่ภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทยรับความรู้และประสบการณ์ที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเตรียมตัวสำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับการพัฒนางานวิจัยและบุคลากรด้านฟิวชั่นพลาสมา และกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับนิวเคลียร์ฟิวชั่นในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น