วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สทนช. เสนอร่างผังน้ำรอบ 2 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนพิจารณาให้ความคิดเห็น

สทนช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นำเสนอร่างผังน้ำครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคกลาง 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน

วันที่13 สิงหาคม 2564 นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 3 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3  โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ และองค์ประกอบของผังน้ำ เป็นครั้งที่ 2 ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยได้รับเกียรติจากนายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมกว่า 200 คน

นายปรีชา สุขกล่ำ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท วอเตอร์ ดีเว็ลลัฟเม็นท์ คอนซัลแท็นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ดำเนินการจัดทำร่างผังน้ำครั้งที่ 1 และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียไปแล้วในช่วงวันที่ 29 มีนาคม – 9 เมษายน 2564 และได้นำข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบการศึกษา และจัดทำร่างผังน้ำ ครั้งที่ 2 มารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันนี้

“ผลการวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำ ครั้งที่ 2 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่อยู่ในผังน้ำ 2.84 ล้านไร่ หรือร้อยละ 22.22 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ จำแนกเป็นพื้นที่น้ำหลาก 2.01 ล้านไร่ พื้นที่น้ำนองราว 0.74 ล้านไร่ และพื้นที่ลุ่มต่ำราว 0.09 ล้านไร่ โดยพื้นที่เหล่านี้จะมีข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังน้ำที่ต้องการให้การบริหารทรัพยากรน้ำ ของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีการวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบขึ้นมาก่อน ซึ่งการวางผังน้ำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าว จะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้ โดยการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม” ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น