วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อว. เผยความก้าวหน้าของการวิจัยวัคซีนโควิด 19 โดยนักวิจัยไทยความคาดหวังของประเทศ

การวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เผยวัคซีนโควิด-19 4 ชนิด เริ่มนำมาทดสอบในคนระยะแรกแล้ว 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจของโลกและประเทศเป็นอย่างมาก วัคซีนที่ได้รับการอนุญาตและมีการฉีดให้แก่ประชาชน ต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองและมนุษย์ จนมีความปลอดภัยสูงที่สุด และส่งผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบัน คนไทยให้ความสนใจและฝากความหวังไว้กับการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพของนักวิจัยไทยเป็นอย่างมาก

วัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 SARS-Cov-2 โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวเตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด ภายหลังประสบความสำเร็จจากการทดลองในลิงและหนู พบว่าช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงได้ผลิตและทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครคนไทย เพื่อหาปริมาณวัคซีน ChulaCov 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และกำลังเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป วัคซีนสามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ อีกทั้ง วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Bionet Bionet Asia เพื่อผลิตได้ทันที 

โดยวัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันโรคโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากในหนูทดลอง โดยใช้หนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ เมื่อหนูได้รับวัคซีน  ChulaCov19 ครบสองเข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ และรับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดได้ รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการแบบโควิด-19 ภายใน  3 -5 วันและทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือดในจมูกและปอด โดยการวิจัยและพัฒนาวัคซีนนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

ด้าน วัคซีนใบยา โดยการพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างนวัตกรรมการใช้เซลล์ใบยาสูบในกระบวนการสร้างวัคซีน ชี้ให้เห็นว่า จากการทดลองวัคซีนในหนู สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก และมีความปลอดภัย จึงวางแผนการพัฒนาวัคซีนเป็น 2 Generation คือ การขยายผลทดลองในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อหาขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงมีความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลไปใช้กับวัคซีน Generation ที่สอง คือ การปรับสูตรให้สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น โดยได้เตรียมทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 และ 2 ในเดือนธันวาคม 2564 ต่อไป

เช่นเดียวกับ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาวัคซีน DNV-HXP-S ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายโดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่ผลวิจัยพบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้เริ่มการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ขณะนี้ได้ทดสอบในระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา คาดว่าปลายปีนี้จะได้ทราบผล และจะทดสอบในระยะที่ 3 ต่อไป โดยการพัฒนาในครั้งนี้ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จึงไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ และได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติ จาก องค์กร PATH และ ผู้ผลิตทั้งเวียดนามและบราซิล จึงมีความปลอดภัยสูง 

ด้านภาคเอกชน บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จากัด ผู้สร้างนวัตกรรมวัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็น เผยว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้ และคาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ภายในปี 2564 ในขณะเดียวกันได้มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว กับอาสาสมัคร 150 คน แบบขนานกันไป บริษัทฯ ยืนยันว่ามีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งชนิดดีเอ็นเอและเอ็มอาร์เอ็นเอ หากเป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ ที่บริษัทศึกษาวิจัยเอง จะสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมได้เร็ว

จากความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีนดังกล่าว ได้ดำเนินการวิจัยโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อช่วยลดปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ในระดับสากล เนื่องจากการวิจัยและพัฒนามีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...