วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สกสว.ระดมผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาขยะล้นประเทศสู่การจัดการที่ยั่งยืน

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk ในหัวข้อ “ประเด็นท้าทายและความก้าวหน้าในการจัดการขยะของประเทศไทย” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและภาควิชาการร่วมพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและช่องว่างขององค์ความรู้ในการจัดการปัญหาขยะที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศไทย พร้อมทั้งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะที่จะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีขยะเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการขยะที่ยั่งยืนของประเทศไทย ตลอดจนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการทุนวิจัย

โอกาสนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศ ชุมชน และพื้นที่ จากวิกฤตการณ์ด้านขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันแนวทางเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอย่างยั่งยืน โดยประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับทุกภาคส่วน “การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน รวมถึงการออกแบบการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการบริหารทุนวิจัย และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ จึงเป็นความท้าทายใหม่ในการเปลี่ยนภาระเป็นโอกาส สร้างโมเดลใหม่ และยกระดับการแก้ปัญหาเรื้อรังทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำอย่างไรให้เกิดการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เกิดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน”

ขณะที่นักวิชาการระดับประเทศอย่าง รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงนวัตกรรมลดขยะพลาสติกเพื่อพ้นวิกฤต ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าการลดขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงมากเพื่อฝ่าฟันวิกฤติช่วงนี้ โดยเฉพาะ  Home Isolation ไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ ทำให้เชื้อโรคกระจายอยู่ตามบ้านเรือนและชุมชน ซึ่งน่ากลัวมาก แนวทางการลดขยะพลาสติกต้องเริ่มจากการคัดแยกให้ถูกวิธีจึงจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ อย่าทิ้งขยะติดเชื้อลงไปในขวดพลาสติก เราได้พัฒนาถุงแดงซิปล็อคเพื่อทิ้งขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วส่งไปตาม Home Isolation ญาติผู้ป่วย ร้านค้า โรงเรียน และศูนย์ต่าง ๆ เพื่อให้ขยะติดเชื้อลดลงมากที่สุด รวมถึงพัฒนาถังขยะคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่มีคนเข้าไปประมาณ 1.3 ล้านคน/วัน โดยมีระบบเซนเซอร์เปล่อยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 15 นาที 

เช่นเดียวกับ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อและสุขภาวะ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่ระบุว่าตั้งแต่มีโควิด-19 ทำให้เกิดขยะติดเชื้อจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำนวัตกรรมแปรรูปที่เกิดจากเรามาใช้ได้ ทุกอย่างใช้แล้วทิ้ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นปัญหา สิ่งที่เป็นภาระคือ ทุกหอผู้ป่วยจะมีการบริหารจัดการขยะเหมือนหอผู้ป่วยโควิดหรือไม่ ในประเทศไทยตนยังไม่เห็นนวัตกรรมนำขยะติดเชื้อกลับมาใช้ซ้ำ หรือการพัฒนาหน้ากากอนามัยโดยใช้ใยกัญชงกรองเชื้อโรค เส้นใยจากพืชต่าง ๆ ยังไม่ต่อยอดสู่พาณิชย์ จึงอยากเชิญชวนให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของขยะชีวภาพ ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจให้คนแยกขยะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอินทรีย์ เพื่อให้เกิดกระบวนการแยกขยะที่รีไซเคิลได้ ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างรายได้จากขยะ เลือกเอนไซม์ที่เหมาะสมที่สุดโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและขยะอาหารมาเป็นสารตั้งต้นในการทำสารเคมีที่ต้องการแทนสารจากปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีงานที่ทำจริงกับชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน โดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถังหมักประสิทธิภาพสูงเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ในระดับชุมชนจนได้แก๊สหุงต้มและสารบำรุงพืช รวมถึงจัดตั้งสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้การสนับสนุนจาก สกสว. ดังนั้นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงจึงเป็นงานวิจัยที่สร้างมูลค่า ถ้ามีคนเชี่อว่าเราจัดการได้ก็จะเป็นระบบที่เกิดขึ้นง่ายและไม่มีของเหลือทิ้งในธรรมชาติ ลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมี ปลอดภัยต่อภาคการเกษตรและผู้ใช้งาน

ด้านคุณประวิทย์ ประกฤตศรี รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นการบูรณาการของภาคเอกชนในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะนั้นสภาหอการค้าฯ มองเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน มีโจทย์เรื่องขยะที่เป็นปัญหาระดับโลก ยิ่งมีโควิด-19 ยิ่งใช้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวิกฤตนี้จะเป็นโอกาสของโมเดลธุรกิจหากเราสามารถแยกขยะได้ ส่วนการใช้งานวิจัยตอบปัญหายังติดขัดปัญหาด้านกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ และในอนาคตยังมีวัสดุอีกหลายตัวที่จะเพิ่มมูลค่าน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติกและ PLA หรือ Polylactic Acid พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ นำสิ่งที่เหลืออยู่ในภาคการเกษตรมาตอบเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้านบรรจุภัณฑ์อาหารจากเส้นใยธรรมชาติ ย่อยสลายด้วยวิธีธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะมีต้นทุนสูงขึ้นจึงต้องมีระบบมารองรับ กระบวนการวิจัยและพัฒนาจะทำอย่างไรให้เกิดการรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร 


สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นักวิจัยมองว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการนำนวัตกรรมไปใช้จริง ดังนั้นต้องแก้เหวมรณะด้วยการทำให้เกิดโครงการแรกให้ได้เพื่อให้มีโครงการต่อไป นอกจากนี้ยังต้องทบทวนนโยบายขยะติดเชื้อให้ทันสมัย เปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารโรงพยาบาลในการรายงานขยะทุกประเภททุกมิติ และปรับการบริหารจัดการขยะให้เหมาะกับบริบท ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าจากขยะให้กับชุมชนที่มีศักยภาพ นักวิจัยต้องปรับตัวในการทำงานร่วมกับเอกชนและชุมชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ตัวจริง เชื่อมโยงการทำงานของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา สร้างแรงจูงใจและหาแนวทางจัดการขยะให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยอาจต้องทำแซนด์บอกซ์หมู่บ้านที่ออกแบบใหม่ให้มีการจัดการขยะเพื่อให้เมืองน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น

ชป.เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายน้ำลดลงแล้ว

กรมชลประทาน เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลงแล้ว คาดสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย  ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักจนมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกัน ปัจจุบันแม่น้ำปราจีนบุรีที่บริเวณตลาดเก่ากบินทร์บุรี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งประมาณ 23 เซนติเมตร คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำบางปะกง มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน


จังหวัดฉะเชิงเทรา มีน้ำล้นตลิ่งคลองหกวาสายล่าง บริเวณหมู่ 1 และ หมู่ 14 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.25 เมตร ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในคลองหกวาสายล่าง และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้เร่งระบายน้ำออกทางสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ และเปิดประตูระบายน้ำปลายคลอง 18-21 เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำนครนายก และเปิดประตูระบายน้ำ 14-17 ระบายลงสู่คลองบางขนาก โดยเร่งสูบน้ำระบายน้ำในคลองรังสิตฯอย่างต่อเนื่อง 


ด้านจังหวัดสมุทรปราการ สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.20 – 0.30 เมตร ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนน้ำที่ยังขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ กรมชลประทาน ได้เดินเครื่องสูบน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร และสถานีสูบน้ำตามแนวคลองชายทะเลรวมทั้งหมด 9 แห่งตลอดเวลา เพื่อระบายให้ได้ไม่น้อยกว่า 20 ล้าน ลบ.ม./วัน พร้อมเดินเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง บริเวณสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร เสริมศักยภาพในการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายภูวดล   คำพุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำแและบำรุงรักษาชลหารพิจิตรประสานงานประธานหมู่บ้านเมืองเอก บางปูอย่างใกล้ชิดเพื่อชี้จุดให้การสูบน้ำท่วมขังในพื้นที่ลดลงเร็วที่สุด คาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน






รพ.พระรามเก้า จับมือ โรงแรม วี กรุงเทพ เปิด “Hospitel” ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว พร้อมแยกพื้นที่ ward กลุ่มสีเหลือง 80 ห้อง และกลุ่มสีแดง ICU อีก 20 ห้อง

โรงพยาบาลพระรามเก้า ร่วมกับ โรงแรม วี กรุงเทพ (VIE HOTEL BANGKOK) เปิดบริการ Hospitel ห้องพักเฉพาะกิจ รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อแต่ยังหาเตียงไม่ได้ และอาการไม่รุนแรง หรือกลุ่มสีเขียว ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลพระรามเก้า ครบครันด้วยทีมบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ยังได้เพิ่มห้องกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง โดยแยกพื้นที่ ward เฉพาะดูผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไว้ 80 ห้อง และเสริมกลุ่มผู้ป่วยสีแดง ICU รองรับผู้ป่วยได้อีก 20 ห้อง โดยผู้ที่มีประกันสุขภาพ สามารถเคลมประกันได้ทุกกรณี 

นายแพทย์น๊อต เตชะวัฒนวรรณา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนผู้ป่วยในสถานพยาบาลยังมีจำนวนมาก จนทำให้ห้องพักรักษาตัวสำหรับผู้ป่วยโควิดไม่เพียงพอ โรงพยาบาลพระรามเก้าเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงได้ร่วมกับ วี โฮเต็ล กรุงเทพ ร่วมกันเปิด ‘Hospitel’ หรือห้องพักเฉพาะกิจในโรงแรม ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลฯ โดย โรงแรม วี กรุงเทพ ได้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเปิดบริการเป็น Hospitel ซึ่งมีความพร้อม ทั้งทีมบุคลากรทางการแพทย์, อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มอาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มสีเขียว (Asymptomatic to Mild cases) จะสามารถเข้าพักรักษาที่โรงแรมได้ทันที หลังจากที่ได้ประเมินโดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลแล้ว”

ความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยที่ Hospitel ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ประเมินจากแพทย์จะได้รับรักษาอาการที่ Hospitel โดยในระหว่างรักษาจะมีทีมแพทย์ตรวจประเมินอาการ พร้อมให้คำแนะนำการรักษาผ่านระบบ Telemedicine ผู้ป่วยจะได้รับบริการอาหาร และยา จนกระทั่งหายเป็นปกติ  

นอกจากนี้ รพ.ยังจัดรถเอกซเรย์ เพื่อไปทำการเอกซเรย์ ให้ผู้ป่วยในการตรวจประเมินปอด โดยรอบการให้บริการ จะเป็น วันจันทร์ วันพุธ และพฤหัสบดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย รวมทั้งภายใน Hospitel ยังมีการสำรอง ถังออกซิเจน และรถพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อมหากกรณีต้องมาโรงพยาบาล 

นายแพทย์น๊อต กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารักษาการรักษาที่ Hospitel จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง หรือกลุ่มสีเขียว ซึ่งรับการประเมินจากแพทย์แล้ว โดยรายละเอียดการเข้ารับการรักษา จะมีการสอบถามข้อมูล ประวัติ จากนั้นจะมีการประสานงานเพื่อไปรับ เพื่อเข้ารักษาตามเกณฑ์ประเมิน ซึ่งหากระหว่างการพักรักษาตัว ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารักษาที่รพ.ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ทางรพ.ยังมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ใน “กลุ่มสีเหลือง” โดยได้จัดพื้นที่ ward เฉพาะกิจสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึง 80 ห้อง และผู้ป่วยอาการหนัก หรือ “กลุ่มผู้ป่วยสีแดง” ICU รองรับผู้ป่วยได้อีก  20 ห้อง 

มร. นิโคลัส เพธ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม วี กรุงเทพ กล่าวว่า การร่วมมือกับทางโรงพยาบาลพระรามเก้าในครั้งนี้ ทางโรงแรมมีความพร้อมในการให้บริการห้อง 5 รูปแบบ คือ ห้อง DELUXE KING และห้อง DELUXE TWIN พื้นที่ 38-41 ตารางเมตร มีบริการไวไฟฟรี ในห้องพัก พร้อม TV จอขนาดใหญ่และชุดอำนวยความสะดวกครบครัน ในราคา 8,100 บาท/คืน/ท่าน (ลด 20% สำหรับผู้พักร่วมคนที่ 2 เฉพาะค่าห้อง)


ห้อง DELUXE SUITE พื้นที่ 76-81 ตารางเมตร พร้อมห้องนั่งเล่นกว้างขวาง และห้อง EXECUTIVE SUITE พื้นที่ 81 ตารางเมตร เป็นห้องมุม วิวดี พร้อมห้องนั่งเล่นกว้างขวาง มีบริการไวไฟฟรี ในห้องพัก พร้อม TV จอขนาดใหญ่และชุดอำนวยความสะดวกครบครัน ในราคา 10,000 บาท/คืน/ท่าน (ลด 20% สำหรับผู้พักร่วมคนที่ 2 เฉพาะค่าห้อง)

และ ห้อง GRAND DUPLEX SUITE แบ่งเป็นพื้นที่ 125 ตารางเมตร ห้องขนาดใหญ่ 2 ชั้นพร้อมห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ และห้องมุมขนาดใหญ่ 2 ชั้น พื้นที่ 145 ตารางเมตร วิวสวย พร้อมห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ในราคา 15,200 บาท/คืน/ท่าน (ลด 20% สำหรับผู้พักร่วมคนที่ 2 เฉพาะค่าห้อง)


โดยราคาดังกล่าว เป็นแพ็คเกจรวมค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์ ค่า XRAY ค่า LAB ค่ายา ค่ารถรับส่ง และค่าตรวจหรือค่ารักษาอื่นๆ ผู้ที่มีประกันสุขภาพ สามารถเคลมประกันได้

นายแพทย์น๊อต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ เมื่อสอบถามข้อมูลผู้ป่วย และได้ผลตรวจโควิดเรียบร้อยแล้ว จะมีการประสานแพทย์เพื่อพูดคุยกับผู้ป่วยทางโทรศัพท์ และประเมินอาการเพื่อยืนยันว่าสามารถเข้ารักษาที่ Hospitel ได้ ซึ่งหลังจากการประเมิน เมื่อเข้าพักรักษา แพทย์จะTelemedicine กับผู้ป่วยเพื่อพูดคุยถึงขั้นตอนการรักษา โดยผู้ป่วยจะได้รับการ X-RAY เจาะเลือด รับยา ติดตามผลจากแพทย์ เปรียบเสมือนอยู่ในรพ. รวมทั้งภายใน Hospitel จะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลคอยบริการ และมอนิเตอร์ผู้ป่วยตลอดเวลา

นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่หายแล้ว รพ.ยังมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ  ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปอดอักเสบ และส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อดูแลต่อ ทั้งในเรื่องของปอด หัวใจ สมอง รวมไปถึงจิตใจ รพ.จะมีจิตแพทย์ดูแลความเครียด เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการดูแลในส่วนของความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งเรามีสถาบันรักษาความปวด และสร้างเสริมความเข้มแข็ง หรือ FIX&FIT ที่พร้อมดูแลเสริมสร้างร่างกาย อีกด้วย

“หากพบว่ามีการผิดปกติ เช่น มีการไข้ ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก กลิ่นไม่ได้รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น ท้องเสีย หรือไปในพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิด สามารถตรวจหาเชื้อโควิดกับรพ.ได้ หรือหากใครผล ATK เป็นบวก สามารถมารับการตรวจ RT-PCR กับโรงพยาบาลพระรามเก้าได้ เพื่อเข้ารับการรักษา หรือสามารถติดต่อสอบถามเพื่อเข้ารักษาตัวที่ Hospitel ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8:00-17:00 น. เบอร์โทร 02-202-9889 หรือ ผ่าน line official account : @PR9Hospitel” นายแพทย์น๊อต กล่าวสรุปในตอนท้าย

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“Miss Universe Thailand 2020 นำโดยอแมนด้า ชาลิสา ออบดัมพร้อมเพื่อนนางงาม มอบถุงบรรจุศพจำนวน1,000ชุดให้แก่ฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ เพื่อมอบต่อให้กับองค์กรจิตอาสาด่านหน้าโดยมีดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดีร่วมรับมอบ”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(28สิงหาคม2564) อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม(อแมนด้า) ,พิมพ์ณดา กิตติวิศาลวงศ์(บีน่า),พรปรียา จำนงบุตร (มิ้นท์),ริสา หงษ์หิรัญ( เบคกี้),นางทัศนี วรรณเทวา ซีอีโอ บริษัท เวก้า เนเจอรัล จำกัด,นางปิยาภรณ์ แสนโกศิก ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัดร่วมกันส่งมอบถุงบรรจุศพจำนวน1,000 ชุดให้แก่นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ ณ ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ (ชั่วคราว)  สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์  

ทั้งนี้ในวันดังกล่าวดร.บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้ก่อตั้งองค์กรทำดี รับมอบถุงบรรจุศพจำนวน 300ชุดและถุงยังชีพ ข้าวสาร ชุดยาสมุนไพรและยาสามัญประจำบ้าน นมผง ฯลฯ จากฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์เปิดเผยว่า “ขณะนี้แม้ว่าทางรัฐบาลจะเตรียมมาตรการคลายล็อคในจังหวัดสีแดงเข้มแล้ว  แต่สำหรับจิตอาสาด่านหน้าการช่วยกันสนับสนุนภารกิจต่างๆของผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวตามบ้าน(Home Isolation)หรือพักที่ศูนย์พักคอยตามชุมชนต่างๆยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งในด้านการสนับสนุนอาหารกล่องปรุงสุก อาหารแห้ง ถุงยังชีพ ยารักษาโรค เพราะปัจจุบันยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวหรือกลับเข้าสู่ระบบการทำงานได้เพราะช่วงที่ผ่านมามีสถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดตัวลงและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างซ้ำไปซ้ำมาซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีก”

นอกจากนี้ทางฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ ได้ทำการมอบถุงบรรจุศพให้แก่องค์กรจิตอาสา,ร.พ.สนาม,วัด ไปแล้วถึง1,000ชุด

ผู้สนใจร่วมสนับสนุนภารกิจฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์สามารถบริจาคเงินได้ที่บัญชีมูลนิธิคุวานันท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 109-249780-3 (ลดหย่อนภาษีได้) ส่งหลักฐานการบริจาคมาได้ที่ Line ID:@silvervoyage , Call Center 02- 0169910 (ทุกวัน 09.00-17.00 น.) FB:Foodforfightersth

#wisdomofsharing

#foodforfightersth




"เทพทัย เฮิร์บ" สนองนโยบายรัฐ ทุ่มทุนวิจัยและแปรรูป "พืชสมุนไพรกระท่อม" สร้างรายได้ให้เกษตรกรฐานราก

เทพทัย เฮิร์บได้เล็งเห็นประโยชน์ของพืชสมุนไพรกระท่อมจึงได้ทุ่มทุนวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์และกระบวนการในการผลิต โดยลองผลิตออกมาเป็นน้ำสมุนไพรหลากหลายรสชาติ ทำการแปรรูปเป็นชาชงเพื่อสุขภาพ กาแฟและผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดที่มีสมุนไพรกระท่อมเป็นส่วนประกอบ

นายพลวัฒน์ เสนพงศ์ ผู้บริหารบริษัท  เทพทัย เฮิร์บ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้เล็งเห็นสรรพคุณของพืชกระท่อม  สมุนไพรไทยที่ทางภาครัฐได้ทำการปลดล็อกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา จากการปลดล็อกครั้งนี้รวมถึงด้วยสถานการณ์ ของการระบาดจากโคโรนาไวรัสที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจฐานรากต่างๆได้รับผลกระทบ การศึกษา วิจัย ค้นคว้าพืชสมุนไพรกระท่อม ทางบริษัทได้ทุ่มทุนลงไปกว่า 40 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้หมุนเวียนในครัวเรือนพร้อมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ ในส่วนของโรงงานผลิตได้สร้างตามหลักมาตรฐานโรงงานที่จังหวัดสุพรรณบุรีบนเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ในอนาคตรับรองว่าลูกค้าจะได้คุณภาพสินค้าอันสูงสุดและได้รับตัวสินค้าที่รวดเร็ว

นางสาวธิรนันท์ เถาเล็ก ตัวแทนเกษตรกร ได้กล่าวว่า สมุนไพรพืชกระท่อมที่ได้ส่งให้บริษัท เทพทัย เฮิร์บ นั้น เป็นสายพันธุ์เฉพาะ "ก้านแดง" และ  "ก้านเขียว" ที่เพาะปลูกในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร  ในอนาคตสามารถส่งโรงงานแปรรูปไม่ต่ำกว่า 7 - 10 ตัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุดิบขาดตลาด ทั้งนี้เกษตรกรมีรายได้จากพืชสมุนไพรกระท่อมอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท รายได้จากการขายพืชสมุนไพรกระท่อมทำให้หลายๆครัวเรือนมีเงินหมุนเวียนในสภาวะระบาดของโคโรน่าไวรัส และสามารถทำให้หลายๆครัวเรือนดำรงชีพได้ต่อไป

สกสว. เปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ถอดประสบการณ์พัฒนาระบบพี่เลี้ยงนักวิจัยไทย

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)  

เปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ภายในงาน Brainpower Symposium “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยและนักวิจัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมโดยหนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาระบบการสนับสนุนนักวิจัยผ่านระบบ Multi Mentoring System (MMS) 

โดยระบบได้มีการพัฒนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง” (Mentor) ขึ้นในมหาวิทยาลัย และมี “หัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง” (Head Coach) ที่เป็นนักวิจัยผู้ประสบความสำเร็จสูง ที่ร่วมสร้างคุณประโยชน์ไม่เฉพาะแก่นักวิจัยรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างผลดีต่อสถาบันและชุมชนให้เห็นคุณค่าของการวิจัย รวมทั้งช่วยยกระดับความเข้มแข็งด้านการวิจัยของสถาบันวิจัย 

นอกจากนี้กลไกของ MMS ไม่ได้มีเฉพาะนักวิจัยพี่เลี้ยง และหัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงเท่านั้น   ยังมีกลไกระดับสถาบัน ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายร่วมมือกัน ในการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย  และยกระดับคุณภาพ ปริมาณผลงานวิจัย ผ่านปฏิสัมพันธ์แบบเครือข่าย ที่มีความร่วมมือและช่วยเหลือกัน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับผู้บริหารหน่วยงานรวมถึงนักวิจัยสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาระบบงานวิจัยไทยซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า นักวิจัยถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนากำลังคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ววน. ของประเทศ โดยในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย 

โดยมีการแบ่งเส้นทางเริ่มจากอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง เข้าสู่การเป็นเมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นคือ การที่ประเทศมีนักวิจัยอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนา นอกจากนี้ในเชิงคุณภาพจะทำให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งหลังจากการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศ สกว. ได้เปลี่ยนบทบาทเป็น สกสว. จัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ทำให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลัง ซึ่งการพัฒนานักวิจัยในรูปแบบ MMS ก่อให้เกิดการทำงานบนฐานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคนโยบาย มหาวิทยาลัยและนักวิจัยรุ่นต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสิทธิภาพ

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.โสพิศ วงศ์คำ เมธีวิจัยอาวุโส กล่าวว่า ระบบ MMS เป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้กับประเทศ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง กลับเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานด้านการวิจัยต่อไป MMS เป็นกลไกการเชื่อมต่อเชิงซ้อนซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกันจนกระทั่งสามารถเป็นระบบการพัฒนานักวิจัยระดับประเทศ นอกจากนักวิจัยจะมีพี่เลี้ยง (Mentor) ในรายบุคคลแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัย และโค้ช (Coach) ในแต่ละภูมิภาค รวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นระบบแม่ข่าย โดยแบ่ง MMS ออกเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1-4 ภาคกลาง กลุ่มที่ 5 ภาคเหนือ กลุ่มที่ 6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มที่ 7 ภาคใต้ กลุ่มที่ 8 มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกลุ่มที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล ซึ่ง MMS แต่ละกลุ่มสามารถออกแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังคงมีเป้าหมายร่วมกันคือการทำให้นักวิจัยสามารถมีเส้นทางอาชีพและตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับประเทศ โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของงานวิจัยจากนักวิจัยรุ่นใหม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านตัวนักวิจัย 2) ปัจจัยด้านการบริหาร 3) ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้รวบรวมในหนังสือหนังเล่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” เป็นการถอดประสบการณ์และองค์ความรู้จากการพัฒนาระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง MMS ซึ่งสามารถส่งต่อองค์ความรู้และภาระสำคัญที่เป็นแนวหน้าในการพัฒนากำลังคนวิจัย หน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย และ สป.อว. รวมถึงหน่วยงานในระดับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) โดย สกสว. มุ่งมั่นการสนับสนุนหน่วยงานแนวหน้าในทุกมิติ เพื่อให้สามารถสร้างบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด หนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ www.tsri.or.th

สกสว.เปิดเวที Brainpower Symposium เผยทิศทางการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ Brainpower Symposium ในหัวข้อ “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ร่วมรับฟังมุมมองต่อสถานการณ์และการคาดการณ์อนาคตด้านการพัฒนาบุคลากรนำไปสู่การออกแบบทิศทางการพัฒนาบุคลากรได้ตรงตามความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” สังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ริเริ่มและทำงานร่วมกัน

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดงานพร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “The Next Step of Brainpower” ระบุว่า ในปัจจุบันจะพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มในด้านการพัฒนากำลังคนที่ดี เมื่อดูจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ Human Development Index ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ซึ่งรายงานว่าไทยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น จาก 0.73 ในปี 2556 เป็น 0.77 ในปี 2561 และมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนากำลังคน ยังมีความท้าทายอยู่ในหลายมิติ เช่น ตามรายงานจาก Asian Productivity Organization หรือ APO ในปี 2562 ระบุว่า ผลิตภาพแรงงานไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำมาตลอดช่วงสองทศวรรษ

โดยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศจีนและอินโดนีเซีย แต่ยังคงต่ำกว่ามาเลเซียอยู่ 2 เท่า ต่ำกว่าเกาหลีใต้ 2.5 เท่า และต่ำกว่าสิงคโปร์ ถึง 4.5 เท่า ซึ่งเมื่อดูจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก หรือ Global Competitiveness Index หรือ GCI ของ World Economic Forum ข้อมูลการจัดอันดับจากการสำรวจ 141 ประเทศทั่วโลก ระหว่างช่วงปี 2561 ถึง 2562 กับช่วงปี 2562 ถึง 2563 ซึ่งภายในระยะ 1 ปีนี้ พบว่า ในส่วนของตัวชี้วัดด้านทักษะ อันดับความสามารถในการปรับตัว ประเทศไทยตกอันดับจากอันดับที่ 66 มาอยู่ที่อันดับที่ 73 หรือนับเป็นอันดับที่ 6 ของภูมิภาคอาเซียน ส่วนตัวชี้วัดด้านชุดทักษะของผู้สำเร็จการศึกษา จากอันดับที่ 61 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 79 และด้านทักษะดิจิทัลในกลุ่มประชากร จากอันดับที่ 61 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 66 จึงเห็นได้ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านอัตราการพัฒนากำลังคนที่ช้าลงและเริ่มจะไม่ทันโลก ซึ่งการผลิตกำลังคนนั้น จะต้องมีทิศทางและตรงต่อความต้องการของประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงทักษะและความรู้ทั่วไป ที่เป็นความท้าทายเกิดจากอัตราการพัฒนาของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและภูมิศาสตร์การเมืองของโลกที่รวดเร็วมากขึ้น และในบางกรณี ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะขึ้นโดยฉับพลัน ซึ่งการพัฒนากำลังคนจะต้องปรับตัวได้รวดเร็วและฉับพลันตามไปด้วย

ในด้านวิชาการนั้น หมายถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งหากประเทศไทยตามไม่ทัน จะส่งผลเสียในหลายด้าน ประเด็นเทคโนโลยีสำคัญที่กำลังจะมีบทบาทในอนาคต เช่น เทคโนโลยีควอนตัม ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ที่จะมาปฏิวัติขีดจำกัดศักยภาพของคอมพิวเตอร์ทั่วไปให้สูงขึ้น จนสามารถถอดรหัสรักษาความปลอดภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ในงานที่ต้องการความปลอดภัยสูงเช่นธนาคาร หรือผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง Google หรือ Facebook ซึ่งหากประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถทัดเทียมในระดับสากล และในจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของประเทศ ได้อย่างเหมาะสมและทันเวลานั้น ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอันตรายจากการโจมตีทางไซเบอร์ ในยุคที่กิจการส่วนใหญ่ได้ย้ายไปดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ในอีกด้านหนึ่งคือทักษะและความรู้ทั่วไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพียงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ทักษะศตวรรษ ที่ 21, Digital Literacy, Entrepreneurship, Critical Thinking ตลอดจนทักษะภาษาที่ 2 ที่ 3 และการรู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก ที่เป็นทักษะและความรู้ที่หลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ช่วยกันผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการอบรมส่งเสริมบุคลากรและสาธารณะชน เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ และยกระดับการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งประเด็นเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อเตรียมพร้อม ให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล

นอกจากการพัฒนากำลังคน อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ การรักษากำลังคนให้ทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ และการดึงดูดกำลังคนต่างประเทศให้เข้ามามีความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ที่ยังขาด เข้ามาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดในประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นที่น่าดึงดูด ทั้งสำหรับบุคลากรภายในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาสร้างความร่วมมือ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญโดดเด่นในเฉพาะด้าน เฉพาะสาขา หรือประเด็นที่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมจนมีศักยภาพเด่นเป็นลำดับแนวหน้าของภูมิภาคหรือของโลก ประเทศเหล่านี้จะได้รับความสนใจในการสร้างความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ และจะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติ โดยด้านหรือประเด็นที่เชี่ยวชาญจะเป็นส่วนที่ดึงดูดความร่วมมือ เพื่อแลกกับการรับการถ่ายทอดในด้านหรือประเด็นที่ต้องการได้

ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีภารกิจในด้านการบริหารนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยหนึ่งในประเด็น ววน. สำคัญที่ สกสว. มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ ประเด็นการพัฒนากำลังคน และสถาบันความรู้ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตกำลังคน ไม่ใช่เพียงนักวิชาการหรือนักวิจัย แต่รวมถึงผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคม โดยระบบ ววน. ของประเทศนั้น มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อศักยภาพและคุณภาพของคนในประเทศ

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ ววน. ต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ สกสว. โดยกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ จึงได้ริเริ่มจัดงาน Brainpower Symposium ขึ้น เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเชิงวิชาการ และความตระหนักรู้ในประเด็นที่สำคัญต่อประเทศไทย สำหรับผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการ ซึ่งจะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาและออกแบบทิศทางการพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของประเทศได้ และสำหรับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมที่มีความสนใจ สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันการรับรู้ของสังคม และการสนทนาในโอกาสต่างๆ ในประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ


นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” และหัวข้อ “ก้าวข้ามวิกฤติกำลังคนไม่ตอบโจทย์ประเทศ” โดย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคนโยบายและภาคเอกชน ร่วมวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งงานสัมมนาในครั้งนี้ก่อให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันความรู้ พัฒนาให้นักวิจัยมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนประเทศและผู้บริหารหน่วยงานในระบบ ววน. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...