วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม กสว.ครั้งที่ 7/2564 โดยหนึ่งในประเด็นที่ทางคณะกรรมการ กสว. ร่วมหารือกันวันนี้คือแนวทาง การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Information System หรือ NSTIS) ที่จัดทำขึ้นเพื่อลดความซ้ำซ้อน ของการมีระบบข้อมูลสารสนเทศกลาง ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ และเพื่อให้เป็นระบบสารสนเทศหลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงการให้บริการและเป็นฐานข้อมูลในด้านต่างๆที่ครบถ้วน โดยปัจจุบันคณะกรรมการกสว.มีมติให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบ NSTIS หลัก โดยประสานการดำเนินการร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ดูแลด้านวิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ ระบบ NSTIS ประกอบด้วยข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ข้อมูลเครื่องมืออุปกรณ์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลอยู่ประมาณ 15,000 รายการ ซึ่งปรากฏรายละเอียดของการให้บริการเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าว ตามเงื่อนไขของหน่วยงานที่รับผิดชอบ 2) ข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ ขณะนี้มีประมาณ 10,000 รายชื่อ ซึ่งกำหนดให้มีการปรับข้อมูลภายในร่วมกับฐานข้อมูลนักวิจัยในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NRIIS ที่มีอยู่มากกว่า 100,000 รายชื่อ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบุคลากร และจะเป็นข้อมูลของระบบข้อมูลบุคลากร ววน. ที่สามารถจำแนกแยกแยะบุคลากรเฉพาะด้านต่างๆ หรือบุคลากรที่มีหลายสถานะเชื่อมโยงกัน
3) ข้อมูลห้องปฏิบัติการ ซึ่งหลังจากนี้จะเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย ตามโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย 4) ข้อมูลโรงงานต้นแบบหรือโรงงานนำรอง (Pilot plant) 5) ข้อมูลห้องปฏิบัติการเพื่อการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ 6) ข้อมูลหน่วยรับรองมาตรฐานด้านต่างๆ โดยในส่วนของห้องปฏิบัติการและหน่วยรับรองมาตรฐานถือเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure หรือ NQI) อย่างไรก็ตามหลังการประชุมวันนี้ คณะทำงานได้รับมอบนโยบาย กสว. ไปพัฒนาแบบระบบ NSTIS เพื่อให้การบริหารจัดการด้านข้อมูลในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น