วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อว.พารอด นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ มอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม และโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รองรับผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงนโยบายและผลงาน เรื่อง “วิจัยและนวัตกรรมนำไทยสู้ภัย Covid-19” พร้อมทั้งได้มีการส่งมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ สำหรับติดตั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข ที่ได้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ ได้นำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลทหารผ่านศึก และโรงพยาบาลเลิดสิน พร้อมกับเตรียมติดตั้งรวมแล้วมากกว่า 20 ห้อง ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 อว.ได้มีการประสานหลอมรวมระหว่างอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา 


อว.ได้มีการสนับสนุนการวิจัยด้านยา ชุดตรวจ วัคซีน รวมทั้งยังได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามให้กับศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหลายแห่งในพื้นที่ของ อว.

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19   อว. โดย วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนา “นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่” เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 


โดยผลสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ทีมนักวิจัยได้นำไปติดตั้งให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล  ซึ่งมีความต้องการใช้ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น จากความพร้อมในการใช้งาน จึงได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี  โดยห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่นี้ จะสามารถจำกัดวงกว้างในการควบคุมเชื้อโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดได้ 


โดยมีขนาด 3x6.5 เมตร/ยูนิต มีห้อง anteroom ในตัว มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ ทั้งกรณีที่มีการเปิด-ปิดประตูในแต่ละห้อง พร้อมระบบดูดอากาศผ่านเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรค ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็กที่อาจมีเชื้อโรคเจือปน เพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาสู่ภายนอกอาคารเป็นอากาศบริสุทธิ์ 


ในแต่ละยูนิตจะรองรับผู้ป่วยได้ 1 คน และสามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น เป็นห้อง ICU ห้องตรวจ หรือห้องฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานได้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้อีกในอนาคต จากนี้ วช. จะดำเนินการติดตั้งต่อไปให้กับโรงพยาบาลที่ได้รับการประสานงาน เพื่อช่วยรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


“นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่” เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยจาก อว. โดย วช. แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก อีกทั้ง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ห้อง ICU ดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ เช่น โรควัณโรค เป็นต้น ตอบโจทย์เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...