วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ คณะกรรมการ และกองบรรณาธิการจัดทำวิศวกรรมสาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ ระบบ “ฟื้นฟู-เยียวยา-ป้องกัน” ที่ควรมี (ทำ) สำหรับกรณีเหตุระเบิดที่กิ่งแก้ว เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดเหตุ รวมทั้งฟื้นฟูและเยียวยาถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดโรงงานผลิตโฟม ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลา 3 นาฬิกาของวันที่ 5 กรกฏาคม โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กำลังเร่งทำแบบจำลอง 3 มิติ คำนวณรัศมีการรั่วไหลลงใต้ดินของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชนที่อาศัยในละแวกใกล้เคียง
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า มลพิษฟุ้งกระจายจากกรณีกิ่งแก้ว จำเป็นต้องใช้ระบบอัจฉริยะในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยปัจจุบันทีมนักวิจัย จากคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ระหว่างการทำแบบจำลอง เพื่อสำรวจความเสียหายและอันตรายจากสารเคมี โดยพบว่า ในเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดกลุ่มควัน ยกตัวสูงขึ้นไปในอากาศราว 500 เมตร ไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่โดยรอบโรงงานมากนัก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ในโรงงานดังกล่าวมีสารเคมีชื่อ สไตรีน ปริมาณ 16,000 ตัน เมื่อสารดังกล่าวเกิดการเผาไหม้จะเกิดเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากกว่า 400 ตัน ลอยในบรรยากาศเป็นวงกว้าง อาจปะปนไปในแหล่งน้ำและดิน ซึ่งสารที่ลอยในอากาศนั้นจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง
อย่างไรก็ตามทีมนักวิจัยยังสร้างแบบจำลองวิเคราะห์การกระจายทางอากาศ เพื่อกำหนดพื้นที่เก็บตัวอย่างวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว รวมไปถึงจำลองการไหลของสารเคมีที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการประเมินพื้นที่เสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากสารตกค้าง ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟู เยียวยา และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในละแวกใกล้เคียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น