วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างกลไกการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม
สร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างเป็นระบบบนฐานงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วม นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในยุคโควิด-19 รวม 3 ผลงานวิจัยประกอบด้วย ผลการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิค-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย , กระบวนการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน (อสท.)และ พัฒนาศูนย์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 ผลงานวิจัยล้วนมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด-19 และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านการใช้กลไก 3 เครื่องมือหลักประกอบด้วย 1) แผนด้าน ววน. 2) การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุนส่งเสริม ววน. และ 3) ระบบติดตามและประเมินผล โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สกสว. ให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว โดยในส่วนของแผนด้าน ววน. มีการกำหนดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นประเด็นสำคัญ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โดยภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ภายใต้ระบบ BCG Model เพื่อสร้างการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สกสว. ยังมีการสนับสนุนผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ใน 2 รูปแบบ คือ การสนับสนุนทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fund) จัดสรรงบประมาณไปยัง บพข. ซึ่งนักวิจัยสามารถเขียนข้อเสนอที่สอดคล้องกับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญตามแผน ววน. ผ่านช่องทางนี้ นอกจากนี้ยังมีทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) ที่จัดสรรตรงไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์การทำงานตามภารกิจ ถือเป็นการใช้องค์ความรู้จาก ววน. ยกระดับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศ อย่างไรก็ตาม สกสว. ยังมีการจัดตั้งหน่วยบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่มีการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้ ต่อจากนี้ สกสว. ร่วมกับ บพข. ออกแผน ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดใช้ ววน. ในการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ทางด้าน รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. กล่าวว่า ปัจจุบัน บพข. ได้สนับสนุนทุนให้นักวิจัยในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเน้นที่การสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นเชิงระบบและเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า บพข. จะสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่งานวิจัยลักษณะดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบการด้านการพัฒนาสังคม อย่างเช่น 3 ผลงานวิจัยที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะเห็นว่าแนวโน้มปัจจุบัน บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับและสร้างการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างเช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ บพข. ยังให้ความสนใจกับงานวิจัยที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตลาดท่องเที่ยว เนื่องจากในอนาคตอาจเกิดโรคระบาดในรูปแบบใหม่ ๆ ดังนั้นนักวิจัยจะต้องทำการศึกษาเพื่อป้องกัน รวมถึงจะได้รู้ถึงแนวโน้มพฤติกรรมของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการร่วมมือกันในการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวและการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ร่วมมือกันสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างเป็นระบบบนฐานงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น