สกสว. เปิดฟลอร์ออนไลน์ ชวนคิด
‘ประเทศไทยกับการออกแบบแผนงานวิจัยร่วมกัน’
วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการบรรยายและเสวนาออนไลน์หลักสูตร “การกำหนดและออกแบบแผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (Research Development and Innovation Planning : RDI Planning) ครั้งที่ 1 เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านการออกแบบแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ให้หน่วยงานรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเป็นข้อมูลเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนของประเทศและพันธกิจหลักของแต่ละกระทรวงและหน่วยงาน
โอกาสนี้ รศ.ดร. ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. ได้กล่าวถึง “ความสำคัญของนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้าน ววน. และระบบ ววน. ของประเทศ” ว่า การที่ประเทศไทยจะมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการออกแบบการทำงานที่สอดคล้องตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรอบ อววน.) 2556 – 2570 โดยมีต้นทุนทางทรัพยากรคือ งบประมาณ ที่จัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 - 2565 ฉบับปรับปรุง ได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มของโลกและความต้องการของประเทศทั้งระดับพื้นที่ และความต้องการทางสังคม นอกจากนี้ยังออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการในระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อเป้าหมายให้พัฒนาประเทศ ด้วยการวางพื้นฐานการพัฒนากำลังคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การสร้างองค์ความรู้ขั้นพื้นฐานและขั้นแนวหน้าการวิจัย การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ต้องการผลักดันให้เป็นประเทศที่หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ต่อมาในช่วงการเสวนาหัวข้อ “ความเชื่อมโยงของนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน. กับยุทธศาสตร์และทิศทางการทำงานของกระทรวง” ได้มีวิทยากรมาร่วมพูดคุย ได้แก่ นายแพทย์ สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ คุณธนสุนทร สว่างสาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ รศ.ดร.ชลิตา ศรีนวล รอง ผอ.สำนักพัฒนาระบบ ววน. สกสว. ถึงตัวอย่างแผนการวิจัยที่สำคัญแต่ละกระทรวงที่ออกแบบให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของประเทศ
โดย รศ.ดร.ชลิตา ศรีนวล รอง ผอ.สำนักพัฒนาระบบ ววน. สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า แผนวิจัยของแต่ละกระทรวงล้วนแล้วมีความสำคัญ และสนับสนุนการทำงานเชิงนโยบายของแต่ละกระทรวง เนื่องจากต้องสอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของหน่วยงานแต่ละกระทรวง ผ่านการจัดสรรงบประมาณวิจัยทั้งแบบงบประมาณเป็นก้อน (Block Grants) และงบประมาณแบบต่อเนื่อง (Multi-years Budgeting) ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยด้านการแพทย์ หรือการศึกษา ที่ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรม ที่ต้องได้รับงบประมาณอุดหนุนในรูปแบบงบประมาณต่อเนื่อง จากกลไกการทำงานดังกล่าวจะเห็นว่าแผนวิจัยของแต่ละกระทรวง หน่วยงานต้องบูรณาการภายใต้ร่มเดียวกัน เพื่อการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ตรงเป้าหมาย โดยไม่เพียงแต่ละภาคนโยบายจะร่วมพูดคุยและสื่อสารกันเท่านั้น แต่การทำแผนต้องทำงานร่วมกับนักวิจัยด้วยเช่นเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าโจทย์วิจัยต้องมาจากทั้งผู้ปฏิบัติการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และภาคนโยบาย
นอกจากนี้ปัจจุบัน สกสว. มีโจทย์ใหญ่คือ จะทำอย่างไร ให้ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่ส่งเสริมประสิทธิภาพของงานวิจัยแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง อย่าง 1) ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม (RDI Managers) 2) นักบริหารงานวิจัยระดับปฏิบัติการ 3) นักบริการจัดการเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงปัจจัยสำคัญทางด้านการมีระบบวิจัยที่เข้มแข็ง ระบบนิเวศด้านการวิจัยของประเทศที่ดี การมีกฎหมายอย่าง พรบ. การส่งเสริมการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เปรียบเสมือนสารกระตุ้นสำคัญที่หนุนเสริม ให้งานวิจัยของประเทศสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยังผลประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้มีขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2564 โดยในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะเป็นการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปวิธีการจัดทำแผนวิจัย ผ่านการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ประเด็นวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันระหว่าง สกสว.และหน่วยงานรับงบประมาณที่ให้บูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น