วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“กสศ.” ชูมุมสะท้อนปัญหาการศึกษายุค New Normal

 “กสศ.” ชูมุมสะท้อนปัญหาการศึกษายุค New Normal 

ของเด็กชุมชนคลองเตย 

ผ่านมุมมอง แร็ปเปอร์คลองเตยชื่อดัง 

          นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 3 แทบทุกองคาพยพในสังคมต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน รวมถึงระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับชุมชนที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างคลองเตยที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

          บนเนื้อที่ราว 13 ตารางกิโลเมตรของชุมชนคลองเตย กับจำนวนประชากรกว่า 100,000 คน ที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด ยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ชีวิตวิถีใหม่เช่นนี้สร้างความยากลำบากให้กับเด็กในชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งด้วยสภาพแวดล้อมในครอบครัวและชุมชนที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนรู้ 

          กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีบทบาทและภารกิจสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้แสดงความเป็นห่วงและวิตกกังวลถึงผลกระทบจาการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 3 ที่จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของเด็กในชุมชนคลองเตยหนักขึ้นไปอีก โดยได้หยิบยกมุมสะท้อนของปัญหาผ่านแนวคิดและข้อแสดงความคิดเห็นของของเจ้าของฉายา แร็ปเปอร์คลองเตยชื่อดังอย่างเบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านผลงานสารคดี School Town King และจากปากคำคนในพื้นที่เองอย่าง นนท์-นนทวัฒน์ โตมา ก็จะทำให้เราทราบได้ว่า แม้แต่สภาพ ‘normal’ ก่อน ‘New Normal’ นั้นก็ไม่ได้ดีต่อใจแต่อย่างใดเลย 

โดยสารคดีชิ้นดังกล่าวได้สะท้อนมุมมองหลายมิติไว้อย่างน่าสนใจ 

“หลายคนในชุมชนคลองเตยไม่อยากไปตรวจ ฟังแล้วน่าเจ็บปวดที่เขาคิดว่า สู้เป็นแล้วตายไปเลย ยังดีกว่าการมารู้ว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษา” 

          เบสท์-วรรจธนภูมิ ยังได้พูดถึงสถานการณ์ COVID-19 ในชุมชนคลองเตยที่กำลังระส่ำระสาย ด้วยว่า ด้วยสภาพความแออัดของชุมชนคลองเตยที่บ้านแต่ละหลังจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันหลายครอบครัวและเชื่อมถึงกันหมด การแพร่ระบาดจึงเป็นไปได้ง่าย และทำให้ชาวคลองเตยไม่สามารถที่จะมีตัวเลือกในการ ‘กักตัว’ เหมือนกับคนในชุมชนอื่นๆ แม้แต่ผู้ติดเชื้อเองก็ต้องไปอาศัยอยู่ในวัดประจำชุมชน 

          และยังเผยต่อว่า มีเด็กเป็นจำนวนมากที่ติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ส่วนเด็กที่ยังไม่ติดเชื้อก็ยังจำเป็นต้องออกไปทำงานเพื่อหาเงิน และมองว่าการเรียนเป็นเรื่องรอง เพราะกว่าจะได้วุฒิการศึกษาก็คงไม่ทันกับปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องใช้เงิน 

“เด็กส่วนมากจะเรียนจบแค่ ม.3 แล้วออกมาทำงานเลย หรือไม่ก็ไปเรียนต่อ ปวช. มากกว่าที่จะเลือกเรียนปริญญาตรี เพราะทุนการศึกษาก็ไม่ได้ลงมาถึงเด็กที่นี่มากนัก” 

          สถานการณ์การแพร่ระบาดยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนลำบากยิ่งขึ้น หลายโรงเรียนถูกแปรสภาพให้เป็นสถานที่ตรวจเชื้อ COVID-19 ขณะที่คนในชุมชนเองหลังจากไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอจากรัฐบาลก็เริ่มตั้งกลุ่มอาสาสมัครกันเอง เพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งเยาวชนหลายคนที่เข้าร่วมกลุ่มอาสาสมัครก็ติดเชื้อ COVID-19 กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

“เท่าที่ได้เจอกับตาเอง เยาวชนคลองเตยตอนนี้จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ ส่วนเด็กที่ไม่มีมือถือก็ต้องนัดกันไปบ้านเพื่อนเพื่อเรียนด้วยกัน พอเป็นแบบนี้แล้วจะไป social distancing ได้ยังไง” 

          ไม่เพียงแค่การขาดทรัพยากรในการเรียนออนไลน์เท่านั้นที่ทำให้โรคระบาดในชุมชนยังไม่สามารถแก้ไขได้ แต่สภาพบรรยากาศการเรียนการสอนเองก็เป็นปัญหาหนักมากเช่นกัน เนื่องจากการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่สามารถควบคุมให้เด็กจดจ่อกับการศึกษาได้ง่ายนัก เด็กหลายคนหลับ ไปเที่ยวเล่น บางคนต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย 

          สิ่งที่วรรจธนภูมิค้นพบในระหว่างการถ่ายทำสารคดี คือ เด็กแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเยาวชนในคลองเตยอาจมีทักษะชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากที่อื่น แต่เมื่อระบบการศึกษาพยายามยัดเยียดการเรียนรู้เพียงรูปแบบเดียวทั่วประเทศ ทำให้การศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตคนแต่ละพื้นที่และทักษะที่เยาวชนต้องการ การที่ต้องเรียนในหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ ทำให้เด็กคลองเตยจำนวนมากตั้งคำถามว่า “แล้วสิ่งที่เรียนไป จะช่วยให้เขาหาเงินในวันพรุ่งนี้ได้อย่างไร” ซ้ำด้วยการต้องเรียนแบบ New Normal เข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้เยาวชนคลองเตยรู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ชีวิตของตนเองแม้แต่น้อย 

“ถึงแม้วันหนึ่งจะกลับห้องเรียนได้ แต่สภาพความเหลื่อมล้ำของชุมชนคลองเตยก็ไม่ได้เอื้อให้เด็กมีสมาธิในการเรียน เด็กจะมีใจที่พร้อมเรียนได้อย่างไรหากที่บ้านเมื่อคืนเพิ่งทะเลาะกันถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ หรือต้องตื่นตี 3 มาช่วยที่บ้านเก็บผัก ยกน้ำแข็ง พอมาเจอกับระบบโรงเรียนที่ไม่ตอบโจทย์อีก ก็ทำให้เด็กมองว่าพื้นที่ที่เป็นมิตรคือการออกไปอยู่กับเพื่อน ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อย่างยาเสพติดตามมาอีก” 

          จากการพูดคุยกับเบสท์-วรรจธนภูมิ ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วปัญหาด้านการศึกษาของเยาวชนคลองเตยไม่ใช่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หยั่งรากมาอย่างยาวนานก่อนที่เราจะรู้จัก COVID-19 เสียอีก และการแพร่ระบาดของไวรัสก็คือการซ้ำเติมจนทำให้ปัญหาโผล่ขึ้นมาเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งให้สังคมภายนอกได้เห็นกันอีกครั้งเท่านั้นเอง 

          สภาพปัญหาดังกล่าวยิ่งดูเลวร้าย เมื่อได้ยินจากปากเยาวชนในพื้นที่อย่าง นนท์-นนทวัฒน์ โตมา ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งผู้ประสบภัยจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยตรง 

“อุปกรณ์การเรียนในโรงเรียนคลองเตยอาจจะแย่กว่าข้างนอกนิดหน่อย ส่วนเรื่องทุนการศึกษาก็ให้แค่ค่าเทอม ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่นี่เกรดไม่ถึงที่จะขอทุนได้หรอก” 

          ด้านนนทวัฒน์ กล่าวถึง สภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภายในคลองเตยที่แม้ว่าจะมีการให้ทุนการศึกษากับเยาวชนภายในชุมชนบ้าง แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ตามบริบทของชุมชนมากนัก เนื่องจากทุนการศึกษาส่วนใหญ่จะกำหนดเกรดของนักเรียนว่าต้องเรียนได้เกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.00 ขึ้นไป ทุนเรียนดีเหล่านี้จึงไม่เหมาะกับเยาวชนคลองเตยที่ต้องการ ‘ทุนยากไร้’ เสียมากกว่า เพื่อที่จะอยู่ต่อในระบบการศึกษาได้อย่างไม่ยากลำบาก 

          นนทวัฒน์ยกตัวอย่างไปถึงเพื่อนของเขาที่บ้านหลังคารั่วและอยู่กันอย่างแออัด แต่เมื่อเกรดเฉลี่ยไม่ได้ถึงจุดที่ทุนกำหนดเอาไว้ ทำให้เพื่อนของเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงทุน ไม่มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ นอกจากการอยู่อาศัยในสภาพชีวิตแบบเดิมต่อไป 

“ก่อนจะเรียนแบบ New Normal มันก็แย่พออยู่แล้ว เพราะการไปเรียน คือการไปนั่งจดและฟังอย่างเดียว พอมาเรียนออนไลน์ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะอาจารย์หลายคนไม่มีจิตวิทยาในการสอน ถ้าต้องเลือกระหว่างการเรียนกับการทำงานหาเงิน เด็กที่นี่เลือกที่จะเอาเวลาไปทำงานยังจะดีเสียกว่า” 

          หลักสูตรการศึกษาที่ถูกบังคับใช้ทั่วประเทศนั้นดูจะไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมที่ยากจนอย่างชุมชนคลองเตยและอีกหลายแห่งได้อย่างแท้จริง นนทวัฒน์มองว่าการใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง เพื่อนั่งจดในสิ่งที่ครูบอกนั้น ไม่ได้ช่วยให้เขารู้สึกว่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับการหาเงินในชีวิตเลย สิ่งที่นักเรียนอยากจะทำหรืออยากให้มีในโรงเรียนนั้น ระบบการศึกษาก็ไม่เคยมีให้ อย่างเช่นการที่เด็กชอบดนตรี แต่โรงเรียนมีวิชาดนตรีเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง 

          นนทวัฒน์ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า ในหลายวิชานั้นครูบางท่านก็ไม่ได้สอนนักเรียนอย่างเหมาะสม แต่เอาเวลาไปเปิดรายการคนอวดผีให้นักเรียนดูจนจบคาบเสียมากกว่า 

“โตขึ้นไปผมอยากเป็นนักดนตรี หรือไม่ก็ทนาย แต่วิชาในห้องเรียนไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าจะเอาอะไรไปใช้เพื่อทำตามความฝันพวกนี้ได้เลย”  นนท์พูดถึงอาชีพที่อยากทำในอนาคต 

          นอกจากตัวอย่างเรื่องชั่วโมงเรียนดนตรีที่น้อยนิดแล้ว ความสนใจในกฎหมายและสถานการณ์บ้านเมืองที่จะทำให้เขาสามารถเข้าใกล้อาชีพในฝันอย่างทนายได้นั้นก็ไม่ได้ถูกสอนในห้องเรียน เขาบอกอีกว่าหลักสูตรการศึกษาที่เขาต้องทนเรียนให้จบนั้นยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวในอดีต อย่างประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาเข้าใจโลกปัจจุบันที่สำคัญต่อการนำไปประกอบอาชีพเพิ่มเติมแต่อย่างใด 

“ผมคิดว่าต้นตอปัญหาของความเหลื่อมล้ำมาจากโครงสร้างส่วนบน สภาพปัญหาต่างๆ ในชุมชนเองก็เลยยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง แม้แต่ช่วง COVID-19 ก็กลายเป็นการแข่งขันทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจหลายกลุ่มที่ลงมาแข่งชิงคะแนนนิยมในพื้นที่” 

          จากคำกล่าวนั้น ทำให้มองเห็นสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนคลองเตย และดูเหมือนว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาเดียวที่กำลังเล่นงานชุมชนคลองเตย แต่ยังรวมไปถึงความไม่ตอบโจทย์ของหลักสูตรการศึกษาและกำแพงทางรายได้จากวุฒิการศึกษาที่กีดกันไม่ให้พวกเขาสามารถเลื่อนสถานะทางสังคม 

“ถ้าผมได้เป็นรัฐมนตรี ผมจะโละของเก่าทิ้งให้หมด จะสร้างโรงเรียนแบบใหม่และการสอนแบบใหม่ ผมจะไปดูการศึกษาในประเทศที่อยู่ในกราฟสูงๆ ระดับโลก แล้วลองนำมาใช้กับสังคมไทย การที่หลักสูตรการศึกษาเป็นแบบนี้เหมือนสอนให้เด็กคลองเตยเป็นเพียงแค่แรงงาน ทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าในการเรียน แล้วโดนปิดกั้นจากการเรียนรู้ที่แท้จริง ผมอยากโละทิ้งให้หมดแล้วสอนทักษะชีวิตให้มากขึ้น ผมอาจจะอธิบายไม่ถูก แต่ผมพอจะเห็นภาพว่ามันควรเป็นอย่างไร” 

          อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ภาพยนตร์สารคดี School Town King ของ วรรจธนภูมิ ได้ฉายภาพปัญหาในระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำของชุมชนคลองเตยไปแล้ว ขณะที่เด็กคลองเตยอย่างนนทวัฒน์ กำลังเริ่มศึกษาในระดับวิชาชีพปีแรก และยังคงพูดคุยถึงอนาคตของชุมชนคลองเตยว่าจะสามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนไปได้อย่างไรบ้าง พวกเขาทั้งคู่อาจเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ในฟันเฟืองการขับเคลื่อนสังคมขนาดใหญ่ที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโดยที่ยังมีคนสนใจไม่มากพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น