วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วช.ชูวิจัย มทร.ศรีวิชัย พัฒนาโรงเพาะเห็ดสุดล้ำ

วช.ชูวิจัย มทร.ศรีวิชัย พัฒนาโรงเพาะเห็ดสุดล้ำ

ด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม 


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุน แก่นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ ดำเนินโครงการการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสู่ระบบฟาร์มเพาะเห็ดอัจฉริยะ (KM เครือข่าย) ช่วยวิสาหกิจชุมชนบ้านปลายละหาน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพาะเห็ดนางฟ้า ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (IoT) จัดการฟาร์มและผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ



จากเดิม กลุ่มผู้เพาะเห็ดนางฟ้า ใช้วิธีการดูแลและจัดการฟาร์มแบบดั้งเดิม ด้วยการคาดคะเนและใช้ความชำนาญในการสังเกตและสัมผัสถึงความชื้นในอากาศและในตัวเห็ด หากต้องการเพิ่มความชื้นก็จะใช้สายยางในการฉีด โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ที่เห็ดขาดสมดุลความชื้นมากกว่าฤดูฝน ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้น สิ้นเปลืองแรงงานและเวลา จนอาจทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิชาการมาช่วยสนับสนุน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา นวนสร้อย แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ได้ถ่ายทอดและติดตั้งเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำ คือ ระบบฟาร์มเพาะเห็ดอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทฟาร์ม ให้กับกลุ่มผู้เพาะเห็ดชุมชนบ้านปลายละหาน และกลุ่มเครือข่ายอื่นที่สนใจ โดยทดลองกับการเพาะเห็ดนางฟ้าก่อน ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบโจทย์การลดใช้แรงงาน อำนวยความสะดวกในการควบคุมดูแลเห็ด  และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ 



เริ่มต้นจากการออกแบบโรงเรือนเพาะเห็ด ให้มีความสอดคล้องกับระบบที่จะติดตั้ง พัฒนาแอพพลิเคชัน หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อใช้ควบคุมการทำงาน ใน 2 โหมด คือ โหมดสั่งการโดยผู้ใช้งาน และแบบอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดระบบไฟฟ้า ระบบพ่นหมอก ระบบสปริงเกอร์หลังคา ระบบพัดลม และระบบรดน้ำบนพื้น ภายในโรงเรือนเพาะเห็ด โดยมีเซนเซอร์คอยวัดอุณหภูมิ ความชื้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความเข้มแสง พร้อมทั้งนำเสนอเป็นกราฟข้อมูลในการควบคุม ดูการทำงาน และวิเคราะห์สภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ด ซึ่งระบบจะบ่งบอกช่วงเวลาการเก็บเห็ด การพ่นหมอก และการให้น้ำบนพื้นได้ ผู้ใช้งานสามารถดูการทำงานต่าง ๆ ได้ ผ่านการแจ้งเตือนบนแอพพลิเคชัน LINE ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง



“อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ ยังคงต้องพัฒนาทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง   โดยขณะนี้ได้พยายามต่อยอดกับการทดลองเพาะเห็ดหลินจือ การเพิ่มกล้องวงจรปิด และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เทคโนโลยี โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการติดตั้งและการใช้งาน มีเสถียรภาพสูงสุด และเกิดปัญหาน้อยที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อม ในการช่วยพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน อันเป็นฐานรากแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น