รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. |
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยแผนงานวิจัยเกษตรแม่นยำสูงและเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นอีกแผนงานวิจัยสำคัญ ที่ภาคนโยบายเล็งเห็นว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเพิ่มจีดีพี(GDP) ของประเทศไทยให้มากขึ้น ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจโควิด 19 ระลอก 3 ที่กำลังเกิดขึ้น
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ให้ข้อมูลว่า แผนงานวิจัย เกษตรแม่นยำสูงและเกษตรอัจฉริยะ เป็นการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่สามารถลดต้นทุน หรือ เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรในระดับฟาร์มได้ รวมถึงระบบการติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าจากปัญหาการระบาดของโรคและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร และได้ระบบการพยากรณ์ผลผลิต (Forecasting) เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐสำหรับการบริหารจัดการผลิตและลดความเสี่ยงจากสินค้าล้นตลาดโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร
ทั้งนี้แผนงานวิจัยดังกล่าว มีกรอบการดำเนินงานครอบคลุมประเด็น “การเกษตรแม่นยำสูง” โดยพัฒนาการทำการเกษตรที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชโดยเน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูกตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จนถึงกระบวนการปลูกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนแรงงานโดยใช้ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการผลิตสัตว์ที่แม่นยำ พัฒนาและผลิตวัคซีนหรือผลิตภัณฑ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อการป้องกันโรคในพืชและสัตว์เศรษฐกิจ และพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถลดต้นทุนหรือเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังให้ครอบคลุมประเด็น “การติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าและเทคโนโลยีระบบสารสนเทศการเกษตร” โดยพัฒนาระบบการติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าจากปัญหาการระบาดของโรคและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร และการพัฒนาระบบการพยากรณ์ผลผลิตเพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐสำหรับการบริหารจัดการผลิต ลดความเสี่ยงจากสินค้าล้นตลาดโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร
เป้าหมายการดำเนินงานที่ทาง สกสว. มุ่งหวัง คือ คาดว่าจะได้รับได้แก่ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่สามารถลดต้นทุน หรือเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรในระดับฟาร์ม ระบบการติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าจากปัญหาการระบาดของโรคและแมลง และระบบการพยากรณ์ผลผลิตเพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐสำหรับการบริหารจัดการผลิตลดความเสี่ยงจากสินค้าล้นตลาดได้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น