เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Covid19 กับความกลัว: กลัวโควิด-กลัววัคซีน-กลัวอด” โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ , ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการแก้ปัญหาโดยการอาศัยองค์ความรู้ เห็นได้ชัดเจนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด หลายภาคส่วนเริ่มมีการใช้องค์ความรู้ในการออกแบบนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ
ที่ผ่านมา กสว. มอบหมายนโยบายให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ในการแก้ปัญหาภาวะเร่งด่วนของประเทศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนกว่า 1,000 ล้านบาทในการรับมือกับโควิด-19
ปัจจุบันมีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผลิตหน้ากากอนามัยชนิด N95 ชุดป้องกันโรคแบบ PPE ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถผลิตในประเทศไทย ทำให้ลดอัตราการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ กสว. ยังได้ให้นโยบายในประเด็นการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ตามกรอบแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ทำให้ประเทศไทยเกิดความสามารถในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อย่างเช่นการผลิตวัคซีน Astrazeneca ที่สามารถผลิตในประเทศไทย โดยสามารถเริ่มใช้งานในช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ อย่างไรก็ตามในระยะยาวยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางด้านวัคซีนในอนาคต และพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่จะเกิดขึ้น รวมถึงสามารถสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจทางด้านการแพทย์
ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ในอดีตการเกิดขึ้นของโรคระบาดมักจะถูกตั้งชื่อโรคตามสถานที่ต้นกำเนิดของโรคระบาด อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่สเปน แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกเน้นย้ำการตั้งชื่อที่ไม่สร้างตราบาป (Stigma) ทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 (COVID-19)
ตั้งชื่อตามไวรัสและปีที่เริ่มต้นแพร่ระบาด ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจจะมีโอกาสในการแพร่ระบาดของโควิด 19, 20, 21 หรือ 22 ตามมาก็สามารถเป็นไปได้ โดยอันตรายจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แตกต่างจากไวรัสชนิดอื่นตรงที่การติดเชื้อโควิด-19 ไวรัสจะเข้าสู่ปอดโดยมุ่งสู่บริเวณของปลายถุงลม ทำให้ผู้ป่วยที่มีเชื้อลงสู่ปอดมีอาการป่วยรุนแรงและมีโอกาสที่จะเสียชีวิต
โดยผลการศึกษาที่ผ่านมาพบข้อมูลว่า โควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตสูงในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ปัจุบันอาจจะเห็นตัวเลขค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนในยุคปัจจุบันลดลง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคที่มีระยะการฟักตัวสั้น 2 ถึง 7 วัน ดังนั้น จึงทำให้โอกาสในการฉัดวัคซีนป้องกันยากกว่าโรคชนิดอื่นที่มีระยะฟักตัวนาน
โดยการฉีดวัคซีนนั้นจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการศึกษาในประเทศไทยล่าสุด พบข้อมูลว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จะมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ส่วน วัคซีน Astrazeneca สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดอย่างไรก็ตาม การป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดนั้นคือ การเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด คือ เกินร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะสามารถช่วยลดอันตรายจากโรคนี้ ปัจจุบันทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อตรวจสอบความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันรวมถึงศึกษาผลการฉีดวัคซีนต่างชนิดเพื่อเป็นข้อมูลรองรับในการฉีดวัคซีนทางเลือกของประชาชนในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น