วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

นิติวิทย์ฯ ปฏิบัติการเชิงรุกตรวจดีเอ็นเอ แก้ปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร


เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการร้องขอจากทางจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ตามที่ได้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนร่วมกัน ประกอบด้วย 1) กระทรวงมหาดไทย 2) กระทรวงสาธารณสุข 3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4) กรุงเทพมหานคร 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 6) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 7) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 8) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 9) กระทรวงยุติธรรม โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร และช่วยเหลือคนไทยที่ยังไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ซึ่งมีฐานะยากจน เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส แต่ยังขาดพยานหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์สถานะบุคคลและสัญชาติ ให้มีหลักฐานในการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดหรือขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน รวมถึงกรณีการขอเปลี่ยนแปลงสถานะบุคคลจากคนที่มีรายการทะเบียนราษฎรระบุไม่ได้สัญชาติไทย เป็นคนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ โดยผู้ขอรับการตรวจจาก อำเภอท่าม่วง อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอเลาขวัญ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอสังขละบุรี อำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอพนมทวน อำเภอหนองปรือ รวม 9 อำเภอ ประกอบด้วยผู้ประสบปัญหาจำนวน 45 ราย บุคคลอ้างอิง 39 ราย รวมทั้งสิ้น 84 ราย ณ ลานชมวิวเทศบาล ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

 ทั้งนี้ ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้ได้รับการอำนวยความสะดวกและบริการจากภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม รวมถึงการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถติดตามผลการตรวจพิสูจน์ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยระบบ e-Service ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เผยอีกว่า บทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์คือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ 2559 ซึ่งการตรวจ DNA จะมีประเด็นในเรื่องของบุคคลยากไร้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลไม่ได้รับสิทธิทั่วไปตามในฐานะประชาชนคนไทย ซึ่งทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้จัดหางบประมาณมาดำเนินการตรวจ DNA ให้คนกลุ่มนี้ โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันรวม 13,112 ราย แสดงถึงความพร้อมรอบด้าน ทั้งบุคลากร ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างต่อเนื่อง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น