วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

NIA เปิดแคมเปญ “นิลมังกร” อัดฉีดผลงานนวัตกรรมเด่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด 19 โค้งสุดท้ายก่อนเฟ้นหาสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจำนวน 18 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 14 มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดประกาศผลและมอบรางวัล “สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 รอบภูมิภาค (Thailand INNO BIZ Champion 2021 Regional Round) ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” ให้กับ 20 ธุรกิจนวัตกรรมจาก 4 ภูมิภาค

 ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “NIA มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรม ดังนั้นจึงได้ริเริ่มโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” ขึ้น เพื่อสร้างตัวอย่างการทำธุรกิจนวัตกรรมในภูมิภาคให้คนในพื้นที่ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและได้เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรม ผ่านการสื่อสารในรูปแบบของ Edutainment เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ เข้าถึง และเข้าใจกระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในพื้นที่ได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในโครงการ ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่แต่ละจังหวัด จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจ อย่างน้อย 3 เท่า หรือ ประมาณการมูลค่าเพิ่ม 360 ล้านบาท จาก 12 ทีมสุดท้าย และมีแบรนด์สินค้าและบริการนวัตกรรมเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังจะเป็นตัวแทนในการสร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่และจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”





 “สำหรับผลการคัดเลือกโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยรอบภูมิภาค ได้แก่ ผลงาน “น้ำพริกส็อก by Chef May” จากบริษัท พัทธนันท์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคเหนือ ผลงาน “DryDye นวัตกรรมย้อมผ้าไม่ใช่น้ำ” จากบริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคกลาง ผลงาน “Flamex” นวัตกรรมสเปรย์ดับเพลิง จาก บริษัท นาซ่าไฟร์โปรดัคส์ จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผลงาน “เคยนิคะ” ซอสกะปิสำเร็จรูป จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ ผู้ชนะเลิศจากภาคใต้” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว


 “น้ำพริกส็อก” ผลงานธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของภาคเหนือ โดย เชฟเมย์ - พัทธนันท์ ธงทอง รองแชมป์จากรายการ Top Chef Thailand Season 1 และเจ้าของเหรียญเงินในการแข่งขันเชฟระดับโลกปี 2014 ซึ่งเปิดใจภายหลังได้รับรางวัลว่า รางวัลที่ได้ถือเป็นความภูมิใจและเป็นเสมือนเครื่องการันตีว่าธุรกิจนี้ได้พัฒนามาถูกทางแล้ว และกำลังจะก้าวสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่จะยากขึ้นก็คือ การค้นหานวัตกรรมที่จะนำมาสอดแทรกและทำให้ผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง รางวัลที่ได้นี้จึงเป็นทั้งกำลังใจและแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย ซึ่งก็คือการทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก


เช่นเดียวกับ คุณอภินันท์ มหาศักดิ์สวัสดิ์ เจ้าของธุรกิจนวัตกรรม “ทรายแมวจากมันสำปะหลัง” แบรนด์ Hide&Seek หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งของภาคกลาง ที่กล่าวว่า มีความดีใจมากที่ได้มาเข้าร่วมโครงการและได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมต่อไป โดยทางบริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนาธุรกิจทั้งในไลน์ผลิตภัณฑ์เดิมและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมขยายฐานลูกค้าออกไปในต่างประเทศ ซึ่งนวัตกรรมในการนำมันสำปะหลังมาผลิตเป็นทรายแมว 100% นี้ นับเป็นผลงานการผลิตโดยฝีมือคนไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และยังเป็นผู้ผลิตเจ้าแรกในไทย ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าของมันสำปะหลังแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยสูงในการใช้งานด้วย โดยทรายแมวจากมันสำปะหลังนี้สามารถใช้ได้กับแมวทุกวัย เก็บกลิ่นได้ดีเยี่ยม มีคุณสมบัติจับตัวไว ไม่เป็นโคลน และสามารถทิ้งลงชักโครกได้

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA ได้กล่าวเสริมถึง โครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์ในการค้นหา บ่มเพาะธุรกิจ และสร้างแบรนด์ธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการระดับภูมิภาคในประเทศไทย ให้สามารถเติบโตทางธุรกิจ และมีแบรนด์สินค้าหรือบริการนวัตกรรมเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 300 ธุรกิจนวัตกรรมทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคเหนือ 69 ธุรกิจ จาก 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 92 ธุรกิจ จาก 7 จังหวัด ภาคกลาง 79 ธุรกิจ จาก 12 จังหวัด และภาคใต้ 55 ธุรกิจ จาก 13 จังหวัด รวม 41 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถจัดกลุ่มธุรกิจได้จำนวน 10 ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมบริการ และ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น โดยมีวิทยากรระดับประเทศมาให้ความรู้ในด้านการวางแผนธุรกิจนวัตกรรม การสร้างแบรนด์สินค้าและบริการนวัตกรรม การสื่อสารและการเล่าเรื่องสินค้าและบริการนวัตกรรมให้น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมจะได้เรียนรู้ และนำเสนอเรื่องราวธุรกิจนวัตกรรมของตนเองต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะทำการคัดเลือกธุรกิจนวัตกรรมที่มีความพร้อมและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างน้อย 300 เปอร์เซ็นต์ จาก 300 ธุรกิจ สู่ 5 ธุรกิจนวัตกรรมของแต่ละภูมิภาค ที่เปรียบเสมือนเป็น “ม้านิลมังกร” ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งในขั้นตอนต่อไปทาง NIA จะทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 12 ธุรกิจที่จะก้าวเข้าสู่รอบต่อไป ในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชิงความเป็นธุรกิจนวัตกรรมรางวัล “นิลมังกร” รายแรกของไทย พร้อมเงินรางวัล 2 ล้านบาท

















ติดตามอัพเดตความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊คเพจ Thailand InnoBiz Champion

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมเดิน-วิ่งมินิมาราธอน “SKYMED FIT พิชิตโควิด19” ส่งเสริมใส่ใจสุขภาพป้องกันโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564: นาวาอากาศเอก (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด และประธานคณะปวงชนชาวไทย เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมเดิน-วิ่งมินิมาราธอน “SKYMED FIT  พิชิตโควิด19” ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมีพลอากาศเอก ธีร์ศิลป์ คัมภีรญาณนนท์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด, คุณศักย์ศรณ์ คัมภีรญาณนนท์ รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด, คุณธริชยา คัมภีรญาณนนท์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด, คุณนพนท คัมภีรญาณนนท์ ผู้อำนวยการ Sky Crop คุณเจริญสุข ด้วงล้อมจันทร์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด, และคุณนธี หาญกุดตุ้ม ผู้อำนวยการบริหารบริษัทเมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในงานนี้ด้วย







งานกิจกรรมเดิน-วิ่งมินิมาราธอน “SKYMED FIT  พิชิตโควิด19” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด 19) และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับผลการแข่งขันประเภทวิ่งมินิมาราธอน ระยะทาง 13 กิโลเมตร หญิง อันดับที่ 1 สุณิกา ปรีชาโปร่ง อันดับที่ 2 ภรณ์ชนก ฐางวัลย์ อันดับที่ 3 ขวัญเรือน สายวงศ์ยนต์ อันดับที่ 4 ดาริกา สุวรรณมงคล และ อันดับที่5 เครือวัลย์ รัตนมงคล

ประเภทวิ่งมินิมาราธอน ระยะทาง 13 กิโลเมตร ชาย อันดับที่ 1 ธนัช ยอดดำเนิน อันดับที่ 2 สมคิด ลิ่วมโนเงิน อันดับที่ 3 ทรนง วินัยเยี่ยม อันดับที่ 4 จิ่ง และอันดับที่ 5 จำรัส ราวนันท์

ประเภทเดิน-วิ่ง FUN RUN ระยะทาง 5 กิโลเมตร หญิง อันดับที่1 ณัฏฐกมล มนเหมย อันดับที่ 2 ณัฐธิดา คำไทย อันดับที่ 3 ดวงกมล แซ่ฝาง อันดับที่4 สุกฤตา ปันยารชุน และอันดับที่ 5 สุภาภรณ์ กรินมรกต

ประเภทเดิน-วิ่ง FUN RUN ระยะทาง 5 กิโลเมตร ชาย อันดับที่ 1 ชัพวิทญ์ มานะโส อันดับที่ 2 อ่องส่า จิ่งต่า อันดับที่ 3 ภิวัฒน์ นะคำ อันดับที่ 4 ปนัดชัย แซลิ้ม และอันดับที่ 5 ณัฐวุฒิ ประทม







เปิดเวทีล้อมวงวิจัย ส่องทางออกแก้น้ำแล้ง ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk “การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”  ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน จะนำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีหลายประเด็นอยู่ภายใต้ร่มปัญหาดังกล่าว เรื่องน้ำและจัดการที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯให้ความสำคัญและสอดคล้องกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับการที่ยูเนสโก  เรียกร้องให้ทั่วโลกใช้น้ำอย่างคุ้มค่าบนฐานของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของคนในชุมชนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้การแบ่งสรรปันส่วน การบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับแนวคิดกับเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยจะเป็นต้องบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐระดับพื้นที่ ชุมชนต้องมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำขนาดเล็ก   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และระดับนโยบาย   ต้องมีการทำงานแบบเชื่อมร้อยกันในทุกระดับ โดยมีฐานข้อมูลอย่างข้อมูลจากงานวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงาน 

ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  เปิดเผยข้อมูลว่า งานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ยังคงมีช่องว่าง ต้องมองภาพรวมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เราพยายามจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องน้ำ ชุมชน ระบบราชการ และภาคนโยบาย ต้องทำงานที่สอดคล้องกัน ผ่านการออกแบบโจทย์วิจัย การวางแผนงานที่ชัดเจน  มาตรการที่อยากเสนอแนะภาคนโยบายคือ ควรส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน  ควรชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ของเกษตรกร  มีการจ้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร  ออกแบบโครงการตามความต้องการของชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำที่ทุกส่วนราชการต้องเน้นให้ประหยัด เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย  ปรับการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาเป็นการแก้ไขเชิงรุก และพัฒนาสู่การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องจากภาวะแล้ง จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำมากขึ้น ปรับจากการแก้ไขปัญหาตามที่เคยทำมาเป็นการแก้ไขปัญหาบนฐานข้อมูลและการคาดการณ์อนาคตปรับจากการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการป้องกันและปรับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น  ทั้งนี้ อว. ต้องวางแผนงานวิจัย ให้แก้ปัญหาที่ยิงได้ตรงจุดภายในเวลาที่กระชับ ต้องมีทีมจังหวัดและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมความรู้เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงปรับวิธีคิดของผู้ใช้น้ำให้เข้าใจตรงกัน

ในขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องความยากจน แต่มีมิติของระบบนิเวศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนจ่ายภาษีเท่ากันแต่ใช้น้ำไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้ามีการจัดลำดับและปริมาณของการใช้น้ำจะช่วยสร้างความเป็นธรรมได้ ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ควรมีแหล่งน้ำชุมชน อย่างโครงการแก้มลิง หรือค้นหาพืชทดแทนอื่นนอกจากข้าว มัน อ้อย การทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนี้ในส่วนของการวางแผนของภาครัฐ  การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการคำนึงถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องฐานทรัพยากรที่มีอยู่ การเข้ามาของคนต่างถิ่นอาจไปเบียดเบียนฐานน้ำของชุมชน ดังนั้นน้ำต้องถูกเอามาคิดเป็นต้นทุนของการดำเนินการด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ที่มาไม่ตรงตามฤดูกาล เพื่อให้คนทั้งในเมืองและชนบทตระหนักถึงปญหาภัยแล้งที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

ด้าน นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม  กล่าวเสริมว่า  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือจัดการน้ำให้เสมอภาคและเท่าเทียม คนรวยคนจนใช้น้ำกันอย่างเท่าเทียม  ชุมชนต้องสำรวจตนเองว่าในแต่ละปีน้ำในพื้นที่ของตนมีมากน้อยเพียงพอต่อการใช้งานของตนหรือไม่อย่างไร  ผ่านระบบฐานข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐออกแบบไว้จนชุมชนสามารถพยากรณ์และวิเคราะห์วางแผนการทำงานได้ กระบวนการวิจัยได้เข้าไปแล้วทำให้ชุมชนรู้สึกว่า สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ตนเองเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงชีวิตและความเป็นอยู่ของเขา กล่าวคือต้องมีการปรับกระบวนการคิดเข้าหากันและ

ท้ายที่สุด รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) เป็นอีกกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาและการลงทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดย สกสว.พร้อมสนับสนุนประเด็นสำคัญในแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ ความท้าทายของประชาคมวิจัยในอนาคตคือ  ต้องมองโอกาสในระยะยาวที่จะสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และเชื่อมโยงการทำงานกับชุมชน

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...