วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สกสว. เดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย พร้อมขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

“ รัฐสภาลงมติรับหลักการ ร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้าน สกสว. พร้อมเดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย ขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ”

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง)  มีการประชุมวาระสำคัญในการพิจารณาด่วน โดยคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….  ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอไปแล้วนั้น ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายและลงมติรับร่าง จำนวน 525  เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง สรุปที่ประชุมรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผลักดันร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง


สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ 

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2. กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม

3. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยนโยบายและหน่วยงานให้ทุนเพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล และนำกลับมากำหนดนโยบายและการให้ทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต 

4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

5. กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี

6. กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใด ๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน ทั้งนี้กฎหมายฉบับบนี้มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม จากก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว 

นอกจากภารกิจในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับบนี้แล้ว สกสว. ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งการผลักดันมาตรการอื่นๆที่สำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น