วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อว. เผยความจริง 6 ประการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 200 ล้านโดสทั่วโลก "ได้ผลดีกว่าที่คาด"

 

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เมิ่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกได้เกินกว่า 200 ล้านโดสในเวลา 2 เดือนนั้น มีการเก็บข้อมูลโดยละเอียดในมิติต่างๆ ทำให้ทราบผลการใช้งานในสถานการณ์จริงพบว่า "ประสิทธิภาพประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน ดีกว่าที่คาด"

การติดตามผลสำคัญเมื่อมีการใช้วัคซีนแล้วในประชากรจำนวนมากกว่า 200 ล้านคน เป็นเวลากว่า 2 เดือนนั้น สรุปข้อมูลการใช้งานจริงที่น่าสนใจได้ 6 ประเด็น ดังนี้

1 ประสิทธิภาพของวัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก

          ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ตรวจพบทั้งแอนติบอดีและการตอบสนองภูมิคุ้มกันด้านเซลล์

          เดิมตั้งความหวังว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพ 60-70% ซึ่งก็น่าจะเพียงพอ  แต่ผลจากที่ใช้จริงนั้น ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งวัคซีนจากผู้ผลิตหลักแต่ละบริษัทนั้นให้ผลใกล้เคียงกัน

2 ประสิทธิผลของวัคซีน สามารถป้องกันการเกิดอาการและความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ดีมาก

          ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแม้ว่าได้รับเชื้อ โดยวัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมาก และเมื่อฉีดในประชากรจำนวนเพียงพอในหลายประเทศได้ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน

3 ความปลอดภัยของวัคซีน

          การติดตามผลการฉีดในคนจำนวนมากนั้นพบว่า วัคซีนที่ใช้แล้วนั้นมีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคือการเจ็บที่บริเวณฉีด ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออ่อนเพลีย ซึ่งหายโดยเร็วในไม่กี่วัน  และไม่พบผลข้างเคียงชนิดรุนแรง การแพ้วัคซีนแบบอาการหนักนั้นพบน้อยมากเพียงไม่กี่รายและยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผลข้างเคียงของวัคซีน

4 วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดีหลังการฉีดเข็มแรก

         หลังฉีดวัคซีนเข็มแรก จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันซึ่งอาจจะสูงเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อได้แล้วในระดับหนึ่ง รวมทั้งพบว่าการยืดเวลาการฉีดเข็มที่สองออกไปทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงอาจจะสามารถยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองได้ เป็นการลดภาระในการเร่งฉีดเข็มที่สอง ทำให้สามารถกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปฉีดให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากขึ้น โดยแทนที่จะเร่งฉีดเข็มที่สองก็จะนำวัคซีนนำไปฉีดเป็นเข็มที่หนึ่งให้กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงจะมีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วเพิ่มมากขึ้นอีก

5 ความคงทนของวัคซีน

       ในช่วงต้นของการพัฒนาวัคซีน พยายามเก็บรักษาและขนส่งวัคซีนในตู้แช่อุณหภูมิต่ำมากเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของวัคซีน ต่อมาพบว่าสามารถเก็บและขนส่งวัคซีนได้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ ลดข้อจำกัดในการขนส่งและการกระจายวัคซีนที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายวัคซีนได้ในวงกว้างและเร่งฉีดได้จำนวนมากขึ้น

6 วัคซีนได้ผลลดลงต่อเชื้อไวรัสโควิดบางสายพันธุ์

       เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และมีข้อกังวลเรื่องผลการป้องกันต่อเชื้อที่กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลลดลงต่อเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์โดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ จึงต้องเตรียมพัฒนาวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆด้วย

วิเคราะห์ข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...