วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

อว. มั่นใจมหาวิทยาลัยพร้อมเปิดเรียนในสถานที่ตั้งแต่ 1 ก.พ. พร้อมกำชับใช้มาตรการป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เตรียมการที่จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในสถานที่ได้ตามมาตรการของ ศบค.แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่ง อว. ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งดูแลช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่และให้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการผ่อนคลายตามที่ ศบค.กำหนด โดยกำกับให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด


ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อไปว่า ตามที่ ศบค.ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ  ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องพิจารณาดำเนินการ โดยแบ่งตามสถานการณ์ของพื้นที่นั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยจะดำเนินการดังนี้

   1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร) ให้ปิดสถานศึกษา โดยให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

   2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) ให้ใช้อาคารสถานที่ได้ โดยมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด และให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งแบบในสถานที่และแบบออนไลน์ (onsite, online, on air) พร้อมให้งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

   3. พื้นที่ควบคุม เฝ้าระวังสูง หรือเฝ้าระวัง (72 จังหวัด) ให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติและใช้แบบผสมผสานได้  โดยกำกับมาตรการป้องกันโรค จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนในพื้นที่


ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ได้ออกประกาศของกระทรวง อว. ฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเน้นย้ำว่าหากนิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร มีข้อจำกัด หรือมีเหตุจำเป็นไม่สามารถเดินทางมายังสถานศึกษาหรือที่ทำงานได้ เนื่องจากมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือต้องเดินทางผ่านพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชาทราบ และไม่ให้ถือว่าผู้นั้นขาดเรียนหรือขาดงาน โดยให้จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมหรือมอบหมายงานทดแทน 


นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังมีความห่วงใยและได้มอบนโยบายให้ดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยของนิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรทุกคน รวมทั้งให้โรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ได้ปฏิบัติภารกิจด้านการรักษาพยาบาล ให้บริการประชาชน บริการสาธารณะและการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์การระบาดขณะนี้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน และให้สถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะในต่างจังหวัดสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหากมีความจำเป็นด้วย

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

สกสว. เปิดเวทีจับตาอนาคตแรงงานไทย เกิด "Gig Worker" เพิ่มขึ้น หนึ่งคนหลายอาชีพ แนะนโยบายรัฐอุ้มแรงงานอย่างเท่าเทียม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีสาธารณะด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในรูปแบบเสวนาออนไลน์หัวข้อ “อนาคตตลาดและแรงงานในเศรษฐกิจไทย”  เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็น ไปสังเคราะห์และจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม     (กองทุน ววน.) ตระหนักถึงการสนับสนุนประเด็นวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์  เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยทางด้านนี้ที่แหลมคมที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก จึงมีการจัดการประชุมวันนี้ขึ้น ทั้งนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างประชากร  ภาวะสังคมสูงวัย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19  ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะตลาดและแรงงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การซื้อขายและการบริการจึงขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้ประกอบการรวมถึงแรงงาน ต้องเร่งปรับตัวจนนำมาสู่คำถามว่าแรงงานปัจจุบันควรได้รับการยกระดับและปรับทักษะอย่างไร แนวโน้มรูปแบบงานใหม่ในอนาคต และแรงงานแห่งอนาคต ควรมีลักษณะอย่างไรเพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ความคาดหวังของ สกสว.ในวันนี้คือ การได้โจทย์จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำแผนด้าน ววน. สนับสนุนงบประมาณในการวิจัย และสร้างความรู้นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์แรงงานได้ดียิ่งขึ้น

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ   อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดเผยข้อมูลแนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคตของไทยว่า  ภายในปี 2568 อาชีพปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรระบบดิจิทัล 85 ล้านตำแหน่งงาน เกิดอาชีพใหม่ 97 ล้านตำแหน่งงาน คนหนึ่งคน จะเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งขึ้น งานจะไม่ยึดติดกับองค์กรหรืออาชีพแต่จะยึดติดกับทักษะ ตลาดแรงงานจะประกอบด้วยแรงานหลากหลายประเภทขึ้นมีความยืดหยุ่นขึ้น เกิดการจ้างชั่วคราว จ้างไม่เต็มเวลา จ้างรายชั่วโมง มีความหลากหลายของคนในตลาดแรงงานมากขึ้น คนหนึ่งคน มีหลายงานและไม่ได้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียว 

ทั้งนี้ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า จะเกิดการปรับตัวการจ้างงานในอนาคต กล่าวคือ 1.ลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้มากขึ้น 32.2 % 2.จ้างค่าจ้างเพิ่มเพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skills) 19.5 % 3.ปรับรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น เช่นจ้างรายชั่วโมง 17.8 % 4.ลดการจ้างลูกจ้างประจำและมาใช้ Outsource แทน 15.5 % 5.อื่นๆเช่น เน้นตลาดออนไลน์ ปรับฐานเงินเดือน 9.2 % 6.การแชร์หรือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม  และ 7.ลดการใช้แรงงานต่างด้าว 1.2 %  นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด - 19 ที่ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ประกันการมีงานทำอย่างน้อย 10 วันต่อเดือน 2.คืนพื้นที่ให้ค้าขายหาบเร่แผงลอย 3.สนับสนุนทุนประกอบอาชีพแบบให้เปล่า/ปลอดดอกเบี้ย 4.หน่วยงานรัฐมีโควตาจัดซื้อจัดจ้างให้แรงงานนอกระบบ 5.อุดหนุนค่าจ้างเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อชะลอการเลิกจ้าง 6.โครงการ Workfare บริหารสาธารณะเพื่อหนุนกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และ 7.สิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานแก่ผู้ประกันตน มาตรา 40  ทั้งนี้ข้อสังเกตของ รศ.ดร.กิริยาที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญคือ ในช่วงโควิด - 19 มีประเด็นแรงงานการถูกเลิกจ้างอย่างไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น 

ด้านนายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลว่า Future of Work หรือ โลกแห่งการทำงานในอนาคต ถูกจัดเป็นวาระแห่งโลก ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่าในระยะยาวเป็นโอกาสในที่ดี  เทคโนโลยีที่เปลี่ยนจะมีตำแหน่งมากขึ้น ประเด็นที่น่าจะต้องให้น้ำหนักคือ ทักษะของคนที่ไม่เหมาะกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มทักษะจะมีต้นทุนที่ต้องมีผู้สนับสนุน จะมีอาชีพประมาณ 14 % หายไป ส่วนอาชีพที่ไม่หายไป 32 % จะมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย โดยขั้นตอนที่มนุษย์ทำงานได้ ไม่ได้หมายความว่าเครื่องจักรทำงานไม่ได้ แต่ยังคงไม่ใช้เครื่องจักรเพราะลงทุนสูง  เงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นข้อต่อรองให้แรงงานไม่ได้เพิ่มค่าแรงเพราะมองว่าเครื่องจักรก็ทำได้  นอกจากนี้งานแบบ “Gig Worker” หรือ ผู้ที่ไม่ต้องการทำงานประจำ ไม่ต้องการที่จะสังกัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะมีมากขึ้น ข้อที่ฝากไว้ คือให้มองแรงงานมากกว่าแค่เรื่องต้นทุนในการส้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แต่ให้มองในฐานะมนุษย์ ต้องคุ้มครองดูแล นโยบายที่ลงมาต้องมองในรูปแบบใหม่ ต้องทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น 

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิด - 19 ฉายให้เห็นภาพของช่องว่างและ ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล  ระบบต่างๆของภาครัฐที่ยังไม่สมบูรณ์ นโยบายภาครัฐที่ช่วยเหลือที่คนไทยไม่ได้เข้าถึงทุกคน ทั้งนี้รายงานดัชนีเศรษฐกิจดิจิทัล Digital Evolution Index 2020  ประเทศไทยมีการเติบโตฝั่งดีมานด์ด้านดิจิทัลที่ดี แต่ยังมีจุดอ่อนประเด็นเรื่อง Digital Trust หรือความเชื่อถือในศักยภาพการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ไทยถูกจัดอันดับที่ 34 จาก 42 ประเทศ ทั้งในมิติ ความเป็นส่วนบุคคล (Privacy) ความปลอดภัย (Security) และ การตรวจสอบได้ (Accountability) ดังนั้นรัฐอาจต้องสร้างสมดุลระหว่างการวางระบบที่เป็นส่วนตัวแต่นโยบายก็ต้องไม่กีดกันผู้เล่นหน้าใหม่มากเกินไป นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการนำ ข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ต่อทางด้านการตลาด ยังคงเป็นข้อถกเถียงว่า แท้จริงเจ้าของแพลตฟอร์มต้องจ่ายให้ผู้ใช้หรือไม่ อย่างไร อย่างกรณี Facebook และนโยบายกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ อาจต้องเข้ามาดูเรื่อง ข้อมูลนอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องตัวเลขผลกำไร เป็นต้น 

ในขณะที่ รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ดิจิทัลชี้ให้เห็นว่า  เครื่องมือการทำนโยบายเศรษฐกิจของเราถูกออกแบบมาจากประเทศที่มีข้อมูลของแรงงานทุกคนในระบบ แต่ของไทยไม่เป็นเช่นนั้น เรามีแรงงานนอกระบบมาก เมื่อนโยบายถูกปฏิบัติงานจริงจึงเกิดการตกหล่น มีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ต่างๆอยู่มาก  ดังนั้นนโยบายด้านนี้จะเป็นแบบ One size fit all ไม่ได้ ต้องสอดรับปรับให้พอดีกับบ้านเรา นอกจากนี้การสร้างความเท่าเทียมจึงเป็นข้อสำคัญที่ต้องเร่งสร้างทั้งในเรื่องเข้าสู่ตลาด การทำให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจในกฎกติกา (Rules of the game) ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเรื่องแนวทางการเข้าสู่เงินทุน

เลขาธิการ กช.ชี้แจงการคืนเงินค่าเงินค่าธรรมเนียมโรงเรียนเอกชน


เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า สช. ได้มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนในระบบเรื่องซักซ้อมความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครองเพื่อให้โรงเรียนพิจารณาคืนเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองนั้น ในขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าโรงเรียนใดที่เก็บค่าธรรมเนียมซึ่งเข้าข่ายการแสวงหากำไรเกินควร ทาง สช.จะแจ้งให้ลด โดยค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนที่เราเรียกกันนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเค้าเรียกค่าธรรมเนียมการศึกษาโดย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือประเภทที่ไม่รับเงินอุดหนุน อาทิ โรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสามัญบางโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน แต่สามารถที่จะกำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของโรงเรียนเองได้ โดยไม่ได้มีการกำหนดเพดาน ประเภทที่ 2 คือประเภทที่รับเงินอุดหนุน โดยจะเอาค่าใช้จ่ายรายหัวภาครัฐตั้ง แล้วหักเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลออกเหลือเท่าไหร่ทางโรงเรียนก็สามารถไปเก็บเงินกับผู้ปกครองได้ แบบนี้ที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมการศึกษา พวกที่ 2  ซึ่งจะเป็นพวกรายการยิบย่อยค่อนข้างเยอะเราเรียกว่าค่าธรรมเนียมอื่น ก็คือค่าใช้จ่ายบริการต่างๆ ที่โรงเรียนจัด อาทิ ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างเครื่องดื่ม ค่าซักฟอก ซักรีด ค่าสอนเสริมพิเศษ หรือค่าห้องแอร์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งค่าธรรมเนียมอื่นในส่วนนี้ ถ้าเห็นว่าผู้ปกครองเป็นผู้รับภาระเสียเองในขณะที่โรงเรียนปิดโรงเรียนก็ต้องคืนให้ 


นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า และตามที่มีผู้ปกครองมาเรียกร้องว่าขอลดเป็น เปอร์เซ็นภาพรวมของค่าเทอมเลยได้ไหม ตรงนี้นั้นไม่สามารถทำได้ โรงเรียนจะปฏิเสธว่าไม่คืนอะไรเลยก็ไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปกครองและโรงเรียนเรียนต้องคุยกัน หากโรงเรียนไหนมีปัญหาเรื่องการเงินไม่สามารถคืนได้ ทั้งสองฝ่ายอาจเจรจาทำเป็นเครดิตไว้ใช้ หรือเอาไปลดกันภาคเรียนต่อไป 


และในขณะนี้ สช. ได้ให้คณะทำงานเร่งตรวจสอบการเก็บค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนว่าโรงเรียนใดอยู่ในข่ายที่แสวงหากำไรเกินควรหรือไม่ หรือบางโรงเรียนที่ไปเก็บค่าใช้จ่ายจนเกินความจำเป็นเป็นภารของผู้ปกครอง หากมี สช. ก็สามารถสั่งให้ลดและคืนเงินผู้ปกครอง ขอเรียนให้ทราบว่า ทาง สช. ไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ และเข้าใจภาระของทั้งโรงเรียนเอกชนและผู้ปกครอง แต่สำคัญว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยหรือเจรจากัน นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย


สำหรับการคืนค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มีหนังสือถึง ศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้น ศธจ.กรุงเทพมหานคร  ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา และ ผอ. สช. 5 จังหวัดชายแดนใต้) และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนในระบบ ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษและการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง ว่า ตามประกาศกระทรวงศึกษา เรื่อง  ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม 2564 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง ของรัฐและเอกชนปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ต่อมาสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้ปกครองเป็นจํานวนมากว่าโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาและประเภทนานาชาติได้บังคับให้นักเรียนระดับ ก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาต้องเรียนผ่านออนไลน์เท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับนักเรียน รวมทั้งยังเป็นการ สร้างภาระและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเรียกร้องให้โรงเรียนคืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นนั้น


สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564 มิได้บังคับให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนเฉพาะ ผ่านออนไลน์เท่านั้น หากแต่โรงเรียนยังสามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ตามบริบทและความเหมาะสม กับนักเรียนโดยอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้ และหากโรงเรียนใดมีข้อจํากัดที่ไม่สามารถจัด การเรียนการสอนด้วยวิธีใด ๆ ได้เลย ก็ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชยเมื่อสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาและประเภทนานาชาติมีความเหมาะสม กับนักเรียนและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครอง ในกรณีผู้ปกครองร้องขอคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนพิจารณา ดังนี้


1. ค่าธรรมเนียมการศึกษารายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครองและไม่มีความจําเป็นต้อง ใช้จ่ายเนื่องจากปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ควรพิจารณาคืนตามสัดส่วนที่เป็นจริง ได้แก่

1.1 ค่าอาหารและค่าอาหารว่าง

1.2 ค่ารถรับส่ง

1.3 ค่าเรียนดนตรี กีฬาและศิลปะ กรณีโรงเรียนไม่ได้การจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์

1.4 ค่าทัศนศึกษา

1.5 ค่าอาหารเสริมนม กรณีโรงเรียนไม่ได้จัดซื้อและจัดส่งให้นักเรียนถึงบ้าน


2. รายการค่าธรรมเนียมอื่นรายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครอง หากมิได้ดําเนินการใด ควรพิจารณาคืนตามความเหมาะสม ได้แก่

2.1 ค่าเรียนคอมพิวเตอร์/ค่าอินเตอร์เน็ต/ค่าใช้บริการ ICT

2.2 ค่าเรียนเสริมภาษาต่างประเทศ

2.3 ค่าซักฟอก

2.4 ค่าเรียนว่ายน้ำ

2.5 ค่าเรียนเสริมวิชาการ

2.6 ค่ากิจกรรมค่ายเสริมทักษะวิชาการ/วิชาชีพ


ทั้งนี้ รายการที่ 2.1 – 2.6 ให้หมายความรวมถึงรายการค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนจัดเก็บโดยใช้ ชื่อเรียกอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในทํานองเดียวกันด้วย






COVID-19 โรคร้ายที่ทุกคนต่างก็หวาดกลัว

WHO หรือองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศในเดือนมีนาคม ปี 2563 ว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นถือเป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” (Pandemic) และถึงแม้ว่าประเทศจีนจะเป็นประเทศแรกที่พบเชื้อไวรัส แต่ก็เป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้ทั้งโลกต่างให้ความสนใจ ว่าอะไรคือ กุญแจแห่งความสำเร็จของประเทศจีนในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ หลังการใช้ “มาตรการปิดเมือง” (Lockdown) 

มณฑลกานซู่เองก็ถือเป็นอีกมณฑลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการระบาด จากเดิมที่มีผู้ป่วยมากกว่า 6,900 คน แต่ปัจจุบันกลับเหลือผู้ป่วยสะสมไม่ถึง 100 คน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ดร.รุ้งลาวรรณ วิวัฒน์ปิยะวงศ์ ทูตพาณิชย์ประจำมณฑลกานซู่ (จีน) และประธานศูนย์การแพทย์แผนจีนพุทธเมตตาถังหมิง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ชั้น 5  ก็ได้นำเข้ายาสมุนไพรตำรับเดียวกับที่รัฐบาลจีนมณฑลกานซู่ใช้ควบคุมการระบาดของโรคเข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งตำรับยาสมุนไพรที่รัฐบาลประกาศให้ใช้มีชื่อว่า ตำรับป้องกันโควิด 19 หรือ预防方案 นั่นเอง โดยประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรสำคัญจำนวน 7 ตัว อาทิเช่น หวงฉี มีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังลมปราณ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน, ฝางเฟิง ช่วยขับความชื้น ป้องกันไข้หวัดและขับลมเสียออก เป็นต้น

ประเทศจีนได้รวบรวมเอาเหล่าแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญของประเทศกว่า 10 คน ทำการวิจัยและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ คิดค้นตำรับรักษาออกมา อันได้แก่ ชิงเฟ่ยผายตู๋ทาง (清肺排毒汤), ฮวาชือป่ายตู๋ฟาง (化湿败毒方), ซวนเฟ่ยป่ายตู๋ทาง (宣肺败毒方) ผลออกมาปรากฎว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมดที่ทำการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนจำนวน 74,187 ราย หายจากอาการป่วยได้ถึง 91.5% จึงสรุปได้ว่าสมุนไพรจีนนั้นสามารถช่วยรักษาอาการของโรคร้ายแรงนี้จากหนักให้กลายเป็นเบา และจากเบาให้กลับมาเป็นปกติได้ (ข้อมูลจากสำนักข่าวรัฐบาลหูเป่ย 2020-03-23 20:24)

นอกจากทางการจะประกาศตำรับยาสมุนไพรจีนมาให้ใช้แล้ว ทางประเทศจีนยังมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้สวมใส่หน้ากากอนามัย การใช้แอปพลิเคชันติดตาม กักตัวเองทุกครั้งหลังจากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่ากับประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ ประเทศไทยของเราเองก็เช่นกัน 

ทางศูนย์การแพทย์แผนจีนพุทธเมตตาถังหมิง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการระบาดของโรคในครั้งนี้ หากท่านใดอยากสอบถามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นวิธีการป้องกัน หรือแม้แต่วิธีการรักษา สามารถสอบถามเข้ามาได้ตลอดที่เบอร์โทรศัพท์ 02-910-1600 ต่อ 8501-8502

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

THAC ชวนนิสิต-นักศึกษา ร่วมประกวด “ออกแบบเกมด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 50,000 บาท

สถาบันอนุญาโตตุลาการ ( THAC ) จัดประกวด “เกมด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก” เชิญชวนนิสิต-นักศึกษา ที่มีแนวคิดแปลกใหม่และสร้างสรรค์ ร่วมประชันฝีมือออกแบบเกมส่งเข้าประกวด  ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 50,000 บาท โดยจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก อาจจะเป็นการเจรจาต่อรอง การประนอมข้อพิพาท  หรือการอนุญาโตตุลาการ รูปแบบเกมต้องเหมาะสมกับผู้ที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไป ระยะเวลาในการเล่นเกมต้องไม่เกิน 45 นาที  และไม่จำกัดรูปแบบหรือแนวทางของเกม  ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกให้แก่นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2564 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 018 1615 หรือดูข้อมูลการสมัครเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.asia/lHpMz 



วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

รายงานข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศ ณ วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564

คุณภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ณ เวลา 7.00 น. อยู่ระหว่าง  26 - 189 ug/m3 

อย่าลืมสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง  

#DustBoy #pm2_5 


คำแนะนำ

ประชาชนทั่วไป : ในจุดที่มีค่า PM2.5 มากกว่า 90 ug/m3 ควรลด/งดกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง และควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองเมื่อออกมานอกอาคาร ถ้ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็น


ประชาชนกลุ่มเสี่ยง (เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ) : ในจุดที่มีค่า PM2.5 มากกว่า 90 ug/m3 ควรงดกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง และควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองเมื่อออกมานอกอาคาร ถ้ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็น


ที่มา : รายงานค่าฝุ่น PM2.5 (ug/m3) จากจุดติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น DustBoy


ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

https://pm2_5.nrct.go.th

วช. หนุนนักวิจัยไทย คว้ารางวัล Grand prize จากงาน “Seoul International Invention Fair 2020” (SIIF 2020) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

       นักวิจัยไทยได้รับรางวัลใหญ่ รางวัล Grand Prize ในงาน Seoul International Invention Fair 2020 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จากผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีความจริงเสมือนผ่านแอปพลิเคชั่น เรื่อง นวดแพทย์แผนไทยแบบราชสำนักสำหรับออฟิตซินโดรม แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมรับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 2 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 4 รางวัล และรางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 2 รางวัล 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยจาก 4 หน่วยงานคว้ารางวัลใหญ่ระดับนานาชาติจากงาน “Seoul International Invention Fair 2020” (SIIF 2020) ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 – 4 ธันวาคม 2563 ณ COEX Hall C, กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบ On-site และ Online platform และเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลใหญ่ของงานคือ รางวัล Grand Prize จากผลงานเรื่อง“การพัฒนาเทคโนโลยีความจริงเสมือนผ่านแอปพลิเคชั่น เรื่อง นวดแพทย์แผนไทยแบบราชสำนักสำหรับออฟฟิศซินโดรม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุดาณัฏฐ์ สุดทองคง และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนประเภทงบบูรณาการ จาก วช. ปี 2561 นอกจากนี้ ผลงานจากประเทศไทยยังได้รับรางวัลต่างๆ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง 2 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 4 ผลงาน และรางวัลเหรียญทองแดง 2 ผลงาน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปีนี้ได้นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัย นำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ และได้มีการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการนานาชาติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานไทยและสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในเวทีนานาชาติที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับระดับโลก พร้อมทั้งได้ส่งวิดีทัศน์แสดงความยินดีแก่ President of Korea Invention Promotion Association ในพิธีปิดและพิธีมอบรางวัล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่ได้รับรางวัล Grand Prize และรางวัลเหรียญทองเข้าร่วมด้วย 

สำหรับงาน “Seoul International Invention Fair 2020” (SIIF 2020) ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 19 และเป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในทวีปเอเชีย โดยมีนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงในงาน จำนวน 464 ผลงาน จาก 24 ประเทศ 

ทั้งนี้ สามารถรับชมผลงานของประเทศไทย และผลงานจากประเทศต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ http://www.kipa.org/fair/

ครม.เคาะกรอบงบฯกองทุนส่งเสริม ววน. 24,400 ลบ. ใช้ระบบ Blockgrants - Mutiyear กระจายอำนาจให้หน่วยงานในระบบ ววน.

 

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาทตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอ ซึ่งหากเทียบกับงบประมาณ ววน. เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับจำนวน 19,916.63 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้น 22.51 % หรือ 4,483.37 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้มีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund)และทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) อยู่ที่ 60:40 และได้กำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เช่น มีการจัดสรรงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) ต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-year Budgeting) มีการพิจารณาผลการทำงานแต่ละแพลตฟอร์มของปีที่ผ่านมาและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำขอให้เห็นผลงานวิจัยในทางปฏิบัติพร้อมทั้งสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ

กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย (ก) งบสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวน 14,640 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนทุนแบบให้มีการแข่งขัน (Competitive Funding) สำหรับการทำวิจัยที่เน้นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ และ (ข) งบสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) จำนวน 9,760 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research Fund) และ Functional-based Research Fund เพื่อสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน โดยมีเป้าหมาย 4 แพลตฟอร์ม 17 โปรแกรมที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ 


แนวทางการจัดสรรงบประมาณของกรอบวงเงินดังกล่าวเน้นการกระจายอำนาจให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และตรงกับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนช่วยให้งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถสร้างผลงาน หรือแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศได้ในเวลาที่เหมาะสม 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว.มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ผ่านการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมคึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563-2565 เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการดำเนินงานในลักษณะ 4 เป้าหมายเชิงยุทธศาตร์ หรือ Platforms ที่ประกอบด้วย Platform ที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ Platform ที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายสังคมPlatform ที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและ Platform ที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยโปรแกรมทั้ง 16 ที่ระบุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ หรือ OKRs ไว้อย่างชัดเจนแต่หลังจากทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของ COVID19 ทำให้ สกสว. มีการปรับแผนเพิ่ม เพื่อให้แผน ววน. ในปี พ.ศ. 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมีการเพิ่มโปรแกรมที่ 17 “การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” ขึ้นมาเป็นแผนเร่งด่วนในการสร้างความรู้และนวัตกรรม

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนระบบ ววน. นั้น นอกจากจะมีการกำหนดทิศทางแผนแล้ว สกสว. ยังขับเคลื่อนระบบ ววน. โดยใช้งบประมาณจากกองทุน เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนอีกด้วยดังนั้น สกสว. จึงมีบทบาทหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ในรูปแบบการให้ทุนก้อนระยะยาว หรือที่เรียกว่า “Block Grant Multi-Years” ให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งช่วยให้หน่วยงาน สามารถใช้ประโยชน์จากทุน ได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยทุนที่ สกสว. จัดสรรนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Fund และ 2 ทุนสนับสนุน ววน. พื้นฐาน หรือ Fundamental Fund โดยจะจัดสรรงบประมาณส่วน Strategic Fund ให้กับ 7  PMU  ประกอบด้วย บพท. , บพค. , บพข. NIA , วช. ,สวก. และ สวรส.

ซึ่งแต่ละ PMU จะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการวิจัยแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถให้ทุนสนับสนุนนักวิจัย ไปสร้างสรรค์ผลงาน มาตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาตามแผนได้อย่างตรงจุดและในส่วนที่สองคือ ทุนสนับสนุน ววน. พื้นฐาน หรือ Fundamental Fund  โดย สกสว. จะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ตรงไปยังสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในภารกิจการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบ ววน.โดยในปีงบประมาณ 2563 กองทุนส่งเสริม ววน ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 12,555 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณ 19,916 ล้านบาท 

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 25...